ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความเชี่ยวชาญในการผลิตบัณฑิตคุณภาพของภาคเกษตร และมีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อยกระดับความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ให้นักศึกษามาโดยตลอด ครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของโลกอย่างซีพีเอฟ ได้ร่วมสนับสนุนงานด้านวิชาการและงานวิจัย ส่งทั้งบุคลากรของบริษัทเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน ตลอดจนมีสถานที่จริงให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงาน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ได้จริงและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมาก
"โครงการความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัย ด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และซีพีเอฟ เป็นการยกระดับการศึกษาของไทยโดยนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจริง ประสบการณ์จริงของภาคธุรกิจ มาถ่ายทอดผ่านการเรียนการสอนและการลงมือปฏิบัติของนักศึกษา มั่นใจว่าทุกคนที่ผ่านโครงการนี้จะมีความพร้อมก้าวสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ประกอบการภาคเกษตรได้” ผศ.ดร.นิวัติกล่าว
การลงนามครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมืออย่างเป็นระบบ โดยมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้หลักช่วยส่งเสริมการสร้างศักยภาพเยาวชน เน้นการใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญา ในการสร้างฐานทางเศรษฐกิจ โดยบูรณาการความรู้เชิงปฏิบัติ ซึ่งความร่วมมือกับซีพีเอฟ เป็นก้าวที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ในการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ สร้างเครือข่ายความร่วมมือนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ของประเทศ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ตอกย้ำจุดที่มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นดำเนินมาตลอดคือ เรื่อง food security job security และ health security ซึ่งเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าและเข้มแข็ง
ด้าน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟเป็นบริษัทผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ที่มีห่วงโซ่การผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ คือตั้งแต่ Feed-Farm-Food ไปจนถึง Retail โดยมีวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็น “ครัวของโลก” และมีความพร้อมที่จะร่วมพัฒนาการศึกษาของเยาวชนไทย โดยล่าสุด ได้ร่วมมือกับภาคการศึกษาที่มีความแข็งแกร่งในด้านเกษตรครบวงจรเช่นเดียวกันอย่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งด้านนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเชิงเกษตร ด้านการวิจัยพัฒนาในทุกส่วนงานของธุรกิจเกษตรครบวงจร ทั้ง Feed- Farm และ Food ครอบคลุมทั้งสัตว์บกและสัตวน้ำ ตลอดจนพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ไปจนถึงการเพิ่มพูนทักษะการเป็นเจ้าของกิจการด้านการเกษตร หรือ Young Agribusiness Entrepreneurs ทั้งนี้เพื่อมุ่งสร้างเยาวชนภาคเกษตรตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และการบ่มเพาะความพร้อมในการเป็นเจ้าของกิจการภาคเกษตรของเยาวชน
“ซีพีเอฟ เป็น Good Corporate Citizen ดำเนินธุรกิจด้วยปรัชญา 3 ประโยชน์ ครั้งนี้ก็เช่นกัน เรานำประสบการณ์จริง ความเชี่ยวชาญจริง มาถ่ายทอดสู่นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในสายทีสนใจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร เพื่อประโยชน์ในการร่วมพัฒนาการศึกษาและสร้างเยาวชนคุณภาพตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมเกษตรให้แก่ประเทศของเรา” นายประสิทธิ์กล่าว
โครงการดังกล่าวมีการออกแบบกรอบการทำงานและจัดตั้งคณะทำงาน หรือ Work Stream อย่างเป็นระบบใน 3 ด้าน คือ1.) ด้านการพัฒนาหลักสูตร โดยออกแบบหลักสูตรรูปแบบใหม่ชื่อ Young Agri-business Entrepreneurs ซึ่งนักศึกษาจะได้รับการเรียนรู้จากผู้ชำนาญการในแต่ละด้านของซีพีเอฟ 2.) ด้านการพัฒนาการวิจัย โดยต่อยอดจากการวิจัย จัดทำโครงการต่อเนื่องในด้านอาหารและอาหารสัตว์ เช่น โครงการไก่เบตงครบวงจร แพะเนื้อ แพะนม ข้าวโพด ทุเรียน มังคุด และกาแฟ เป็นต้น และ 3.) ด้านโครงการและกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการ CPF in your Area ที่นำโมเดลธุรกิจห้าดาวให้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ภายในรั้วมหาวิทยาลัย และ การจัด Alumni Panelist เพื่อนำผู้บริหารซีพีเอฟที่เป็นศิษย์เก่าร่วมให้ความรู้ หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา ตลอดจน การจัดวิทยากรพิเศษบรรยายในหัวข้อต่างๆที่เป็นความเชี่ยวชาญของซีพีเอฟ เช่น ด้านเทคโนโลยีอาหาร เทคโนโลยีการเกษตร วิศวกรรม ไอที และ ด้านธุรกิจ
No comments:
Post a Comment