แก้ภัยแล้ง แก้เศรษฐกิจ! - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, March 17, 2021

แก้ภัยแล้ง แก้เศรษฐกิจ!





สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ภายใต้การระบาดของเจ้าเชื้อร้าย “โควิด-19”ยังคงลุ่มๆดอนๆ ไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้แน่ชัด ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวดูจะเป็นเป้าหมายแรกๆที่กำลังระดมพลังปลุกปั้นกันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช ยิ่งมีลุ้นหนักเข้าไปอีก เมื่อมี “วัคซีน”เข้ามาเป็นปัจจัยบวก อันจะเป็น “ตัวช่วย”ในยามยากเช่นนี้ได้อย่างดี


ในขณะที่การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทั้งสถาบันการเงิน กระทรวงการคลังต่างคาดการว่าอยู่ในระดับเติบโต 2-3% ซึ่งแม้ว่าจะเป็นตัวเลขจิดเครื่องหมายบวก น่ายินดี แต่วางใจไม่ได้นัก เพราะนี่คือการฟื้นตัวจากที่ติดลบที่ว่ากันว่าลึกสุดในรอบ 22 ปี นั่นคือติดลบถึง 6.1%

หลายฝ่ายต่างมองว่า ในปีนี้ น่าจะเป็นปีที่ต้องฝ่าด่านหินโหดอยู่หลายเรื่อง ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ว่าถึงปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ไว้น่าสนใจถึง 5 ข้อ

หนึ่ง-มองข้ามไม่ได้เลยก็คือ การแพร่ระบาดของโควิด ที่จะยังไงก็ประมาทไม่ได้เด็ดขาด แม้ว่าจะมีวัคซีนเข้ามาแล้วก็ตาม เพราะหากการ์ดตกเมื่อหร่ เป็นเรื่องเมื่อนั้น การระบาดรอบ 2 ยังเป็นบทเรียนราคาแพงที่ต้องคำนึงถึงเสมอ

สอง-แผลเป็นทางเศรษฐกิจ ที่ยังเกาะกิน และอาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพของสถาบันการเงิน ในเรื่องหนี้เสีย ที่จะกระทบถึงการลงทุนของภาคเอกชน

สาม-ปัญหาทางการเมือง ที่จะมีผลกับเสถียรภาพของรัฐบาล อันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของกานลงทุนอย่างแน่นอน

สี่-เรื่องราวของค่าเงินยบาท แข็งเร็วกว่าคู่ค้า คูแข่ง กระทบการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ

ห้า-ภัยแล้ง

5 ข้อ 5 ปัจัยเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งว่าไปแล้ว 4 ข้อแรก ดูจะมีการกล่าวขานกันมาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นโควิด ที่ตอนนี้มีวัคซีนเข้ามาเป็นตัวผ่อนคลาย ก็ต้องลุ้นกันว่ามาตรการรัฐจะมีอะไร ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอีก นอกจากกระบวนการเราชนะ เรารักกัน ที่สร้างความคึกตักได้อย่างน่าทึ่ง

ในขณะที่แผลเป็นทางเศรษฐกิจ ที่ดูว่าพร้อมจะกำเริบได้ทุกเมื่อ โดยแผลเป็นที่ว่านี้ มาทั้งจากโควิด และวิกฤติ 4.0 ที่ดีสรับชั่นธูรกิจไปไม่น้อย และก็ยังเป็นปัญหากดดันสถาบันการเงิน ให้ขยับตัวได้ลำบาก ทำให้คำว่า “หนี้เสีย”เขย่าหัวใจแบงก์ ชนิดที่ต้องระแวดระวังเรื่องการปล่อยกู้อย่างเข้มข้น

เรื่องของเสถียรภาพทางการเมืองก็เช่นกัน ที่ทำให้การแก้ปัญหาต่างๆงกๆเงิ่นๆ เหมือนเด็กหัดเดิน ทำให้นักลงทุนต่างมองซ้ายมองขวา แล้วก็หอบเงินไปลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราหลายรายแล้ว

ส่วนค่าเงินบาท ที่เคยแข็งค่าจนน่ากลัว แต่ก็กลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ก็ต้องลุ้นกันต่อไป เพราะเรื่องเหล่านี้เชื่อมโยงกับตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะพี่เบิ้ม-สหรัฐที่อัดฉีดอีก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เขย่าสถาการณ์หุ้นและค่าเงินยาทได้ไม่น้อย

สุดท้ายคือ “ภัยแล้ง” ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าขยายความเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องราวที่ทำเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีหลายหน่อยงานของภาครัฐ โดยเฉพาะกรมชลประทาน กำลังแอคชั่นเรื่องนี้อย่างเต็มกำลัง

ก่อนหน้านี้ มีการวิพากษ์กันว่า ในปี 2564 นี้ สถาการณ์ภัยแล้ง อาจจะรุนแรงกว่าทุกปี อีกทั้งบ้านเราแล้งเนื้อๆมา 2 ปีติดๆ เลยมองว่าเจอเข้าอีกปี อาจจะถึงขั้น “หนัก”ได้ จนหลายฝ่ายห่วงว่า การสูญเสียภัยแล้งในครั้งนี้ อาจจะเทียบเท่าน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ได้

ให้ดูตัวเลขคร่าวๆ มูลค่าจีดีพีภาคเกษตร ที่เป็นผู้เสียหายรายใหญ่ หากเกิดภัยแล้ง ตัวเลขกลมๆอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท หากตัวขนี้ได้รับผลกระทบ ไม่เพียงแต่จะกระเทือนถึงจีดีพีรวม แต่ประชากรเกษตร 40% ของประเทศ ต้องรับผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วแน่นอน ผู้ประกอบการ สินค้าที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องประสบชะตากรรมด้วย

ฟังดูก็น่าวิตกอยู่ไม่น้อย!

แต่หากว่า ท่ามกลางความวิตก กลับมีประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง!

จากการติดตามสถานการณ์แก้ภัยแล้ง ของกรมชลประทาน ที่มีหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสูงในเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้งนี้คือ สำนักเครื่องจักรกล ซึ่งขณะนี้กำลังระดมสรรพกำลังอย่างเต็มที

โดยโครงสร้างหน่ายงาน สำนักเครื่องกลฯ มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 7 ศูนย์ ศูนย์แรกที่เชียงใหม่ ดูแลอยู่ประมาณ 10 จังหวัด ศูนย์สองที่พิษณุโลกดูแลประมาณ 10 จังหวัด ศูนย์ที่สามอยู่ที่ขอนแก่น ดูแลทั้งภาคอีสานตอนบน ศูนย์ที่สี อยู่ที่โคราช ดูแลอีสานตอนล่าง ศูนย์ที่ห้าอยู่ที่อยุธยา ดูแลทั้งภาคกลางทั้งหมด ศูนย์ที่หกอยู่ที่กาญจนบุรีซึ่งดูแลพื้นที่ทางภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน และศูนย์เจ็ดอยู่ที่จังหวัดสงขลาอำเภอหาดใหญ่ดูแลทางภาคใต้ทั้งหมด 13 จังหวัด

นอกจากจะมีศูนย์ทั้ง 7 ศูนย์แล้ว ยังมีส่วนที่ขึ้นตรงกับสำนักก็มีอยู่ประมาณ 4-5 ส่วน อย่างเช่น ส่วนวิศวกรรมส่วนไฟฟ้า ส่วนโรงงานซึ่งดูแลเรื่องการผลิตและการระบายทั้งประเทศที่ดำเนินการเอง อันจะบอกได้ว่าส่วนนี้สำคัญทีเดียว คือเครื่องสูบน้ำเครื่องสูบน้ำของกรมชลประทาน ที่บอกได้ว่าชาวบ้านชื่นชมมากๆ โดยเฉพาะยามนี้พวกเขาไม่มีความสุข แต่พอเห็นท่อสูบน้ำหรือเครื่องสูบน้ำของกรมชลประทานวิ่งเข้าไป ชาวบ้านจะมีความสุขขึ้นมาทันที

ซึ่งปัจจุบนนี้ สำนักเครื่องจักรกล มีนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม เป็นผู้อำนวยการ ที่ผู้รู้หลายท่านมองว่าน่ายินดียิ่งนัก เพราะนี่คือลูกหม้อของกรมชลประทานคนหนึ่ง เป็นผู้รอบรู้งานทั้งเรื่องภัยแล้ง น้ำท่วม ชนิดมือโปรคนหนึ่งของเมืองไทยทีเดียว

น่าสนใจเข้าไปอีก เมื่อทราบว่าภาระกิจที่กำลังระดมทำอยู่ในขณะนี้ก็คือ “แก้มลิง”อันเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ ที่แก้ปัญหาได้ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งผลงานที่เพิ่งผ่านไปไม่นานมานี้ คือการขุดลอกแก้มลิงที่ฝายแม่ยม ตำบลบ้านกลาง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ในเขตพื้นที่ของ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม สำนักงานชลประทานที่ 4 จังหวัดแพร่

โดยครั้งนี้ดำเนินการขุดลอกโดย ฝ่ายเครื่องจักรกลก่อสร้างงานดินที่ 2 ส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 2 มีพื้นที่ดำเนินการ 110 ไร่ ปัจจุบันดำเนินการขุดลอกได้ 78% เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่เก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 3,150,963 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ถึง 224,000 ไร่ และคาดว่าจะดำเนินการขุดลอกแก้มลิงฝายแม่ยมนี้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2564 โดยจะมีราษฎรได้รับประโยชน์จากน้ำในฝายแม่ยมนึ้ถึงประมาณ 35,000 ครัวเรือน และหากเป็นไปตามแผน แก้มลิงฝายแม่ยมนี้ สามารถรองรับน้ำในฤดูฝนที่กำลังมาถึงในเดือนมิถุนายนของปีนี้ได้อย่างแน่นอน!

ซึ่งที่ผ่านมา สำนักเครื่องจักรกล ได้เข้าไปช่วยเหลือเรื่องภัยแล้งในหลายพื้นที่ ทั้งส่งเรือขุด รถขุด เข้าไปขุดลอกแก้มลิง รวมไปถึงการขุดลอกเพื่อเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำอีกด้วย

“เครื่องมือและเครื่องจักรกลของกรมชลประทานนี้ เราถือว่าเป็นของประชาชน เนื่องจากปณิธานของผู้บริหารกรมชลประทานในอดีต ได้วางรูปแบบและโครงสร้างไว้ดีมาก ที่จะนำเครื่องมือเหล่านี้ ไปดูแลพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ทั้งที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร หรือในเขตเมือง”สุพิศ พิทักษ์ธรรมผู้อำนวยการ สำนักเครื่องจักรกล เปิดอกถึงความรู้สึกในการทำงาน พร้อมทั้งแนวทางสำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน

นอกเหนือจากแก้มลิงแล้ว การกำจัดวัชพืชตามลุ่มน้ำลำคลองก็สำคัญ เพื่อช่วยในการระบาย ถ่ายเทของน้ำ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเดินหน้ากำจัดวัชพืชในเขตลุ่มน้ำภาคกลาง โดยส่งเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ทั้งเรือกำจัดวัชพืช รถแบ็คโฮลงโป๊ะ รถขุดทั้งชนิดแขนยาวและแขนมาตรฐาน ตลอดจนรถเทลเลอร์ รถบัรรทุก และเครื่องมืออื่นที่ต้องใช้งานไปอย่างพร้อมสรรพ ตามแผนที่กรมชลประทานได้วางไว้ โดยเร่งกำจดทั้งผักตบชวาและวัชพืชอื่นๆให้แล้วเสร็จ จากนั้นก็นำทุ่นกั้นผักตบชวา เข้าไปกั้นตามปากคลองซอยต่างๆ เพื่อกั้นผักตบจากบริเวณอื่นไหลเข้ามาในคลองอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม 2564 นี้

ทั้งหมดนี้คือส่วนเสี้ยวหนึ่งที่ยกขึ้นมากล่าวขาน แต่สามารถมองเห็นภาพใหญ่ในการทำงานของสำนักเครื่องจักรกลได้อย่างแจ่มชัด ตลอดจนรับรู้ถึงแผนงานของกรมชลประทานที่ถูกกำหนดและวางไว้อย่างเป็นขั้นตอน อันจะสามารถกอบกู้หรือบรรเทาเบาบางภัยแล้งได้อย่างดี ตลอดจนจากประสบการณ์และวิธีคิดของผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล ผู้มีหน้าที่โดยตรงในการทำงานด้านนี้ ทำให้รู้ลู่ทางต่างๆได้อย่างเข้าใจและเข้าถึงทีเดียว

“สถานการณ์อย่างหนึ่งก็คือ เรื่องแก้มลิง ที่จะสามารถทำให้พื้นที่แถบอีสานทั้ง 20 จังหวัดหายแล้งและหายน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน ถ้าเราแก้ภัยแล้งได้ แก้น้ำท่วมได้ เราสามารถเอาน้ำฝนที่ตกลง นำมาเก็บไว้ในกระพุ้งแก้มลิง ซึ่งเป็นหลักการที่ผมคิดจากการทำงาน และนี่คือภารกิจของกรมชลประทาน ในส่วนของเครื่องจักรที่ทำอยู่ทั่วประเทศ และตอนนี้ก็ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง”สุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล เล่าถึงการทำงาน ประสบการณ์และมุมมองของคนที่คร่ำหวอดในงานอย่างดียิ่ง พร้อมกับยืนยันว่า ไม่ว่าจะน้ำท่วมหรือภัยแล้ง กรมชลประทานสามารถช่วยได้ในทุกเรื่องราวชีวิตของพี่น้องประชาชน อีกทั้งเครื่องจักร เครื่องมือ ก็ถือว่าเป็นของประชาชนทุกคนในแผ่นดินไทยแห่งนี้

จากแนวทางและแนวคิด ของกรมชลประทาน และมือทำงานที่ผ่านงานแก้น้ำท่วม ภัยแล้งมาอย่างโชกโชน คงพอจะมองเห็นภาพ “ภัยแล้ง”ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่อาจจะเบาบางลงไปอย่างเห็นได้ชัด

อย่างน้อยๆ จากความมุ่งมั่น และจริงจังในการแก้ไขของสำนักเครื่องจักรกลและกรมชลประทาน ก็คงทำให้หลายคนอุ่นใจ...

จนอยากจะลบ “ข้อ 5 “ออกไปจากปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้นนั้น-เลยทีเดียว!!


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages