“ข้างในคนนอก” ต่อยอดจัดเสวนาถกเชิงลึกในประเด็น สิทธิและการถูกเลือกปฏิบัติของ แรงงานข้ามชาติ พร้อมชวนทำความเข้าใจผ่านมุมมองคนนอก เพื่อลดช่องว่างระหว่างกัน - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Monday, April 26, 2021

“ข้างในคนนอก” ต่อยอดจัดเสวนาถกเชิงลึกในประเด็น สิทธิและการถูกเลือกปฏิบัติของ แรงงานข้ามชาติ พร้อมชวนทำความเข้าใจผ่านมุมมองคนนอก เพื่อลดช่องว่างระหว่างกัน

กรุงเทพฯ,  เมษายน 2564 - แคมเปญโซเชียลมิเดียเพื่อการสร้างทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติ ลดช่องว่างระหว่างคนไทยและแรงงานข้ามชาติ “ข้างในคนนอก (Inside Khonnok)” โดยโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทยสนับสนุนโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID Thailand Counter Trafficking in Persons Project หรือ USAID Thailand CTIP) ภายใต้การบริหารงานโดย วินร็อค อินเตอร์เนชันแนล (Winrock International) และ เลิฟ แฟรงค์กี (Love Frankie) ยกระดับความเข้มข้น ชวนนักวิชาการ ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานข้ามชาติ ร่วมเสวนาสดผ่าน Facebook Live ที่ www.facebook.com/USAIDThailandCTIP ในประเด็น “สำรวจสิทธิและการถูกเลือกปฏิบัติของแรงงานข้ามชาติในไทย” และ “มองคนนอกจากข้างใน” เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนโดยตรงจากแรงงานข้ามชาติและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ทำความเข้าใจปัญหาถึงราก พร้อมร่วมหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่เฟซบุ๊กหลักของโครงการฯ


แคมเปญข้างในคนนอก เดินหน้าสานต่อเจตนารมณ์ผ่าน การเสวนาออนไลน์ ที่จะช่วยริเริ่มให้เกิดบทสนทนาในประเทศ โดยกระตุ้นเตือนให้เราคนไทยและผู้เกี่ยวข้องฉุกคิด ตั้งคำถามถึงปัญหาความเท่าเทียมและสิทธิของแรงงานข้ามชาติ บุคลากรที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หลังเปิดตัวนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติบนอินสตาแกรม ผ่านบัญชี @InsideKhonnok และสื่อวิดีโอหลัก

การเสวนาประกอบด้วย 2 หัวข้อ โดยหัวข้อแรก “สำรวจสิทธิและการถูกเลือกปฏิบัติของแรงงานข้ามชาติในไทย” (Observing Migrants Right and Discrimination in Thailand) กล่าวถึงประเด็นปัญหาด้านสิทธิและการถูกเลือกปฏิบัติจากกรอบสังคมและนโยบายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดำเนินรายการโดย นันท์ชนก วงษ์สมุทร ผู้สื่อข่าวจากมูลนิธิทอมสันรอยเตอร์ ร่วมด้วย ดร.รัชดา ไชยคุปต์ อาจารย์และนักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภัคชนก พัฒนถาบุตร เจ้าหน้าที่ประจำแผนกการเคลื่อนย้ายแรงงานและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) สำนักงานประเทศไทย คอรีเยาะ มานุแช ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม นักวิเคราะห์โครงการ โครงการความปลอดภัยและยุติธรรม: สิทธิและโอกาสของแรงงานข้ามชาติสตรีในภูมิภาคอาเซียน – องค์การสหประชาชาติ UN Women เริ่มเสวนาด้วยการสะท้อนความคิดของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทุกท่านในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่มีติดตัวเราทุกคน ไม่ว่าจะย้ายถิ่นฐานไปทำงานในประเทศใด สิทธินี้ควรมีติดตัวเราทุกคน สิทธิทางกฎหมายที่กำหนดว่าแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่การไม่มีกลไกสนับสนุนให้เข้าถึงสิทธิเหล่านั้นได้ เช่น ข้อจำกัดทางภาษาหรือช่องทางที่ทำให้แรงงานต่างชาติไม่ได้ใช้สิทธิประกันสังคม รวมถึงการถูกแบ่งแยกและปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ด้วยการถูกจำกัดให้เป็นเพียงแรงงานไร้ความสามารถ ไม่สามารถประกอบอาชีพที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีได้

พร้อมถกประเด็นร้อน การเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นพาหะในช่วงที่มีการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทั้งที่ในความเป็นจริง เชื้อโรคไม่เลือกผู้ที่ติด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติหรือคนไทยก็สามารถติดได้เช่นกัน “แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานมีข้อจำกัดเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งเกิดจากความขาดแคลนโอกาสในการทำงานในอาชีพที่ให้ค่าตอบแทนสูง ต้องส่งเงินกลับประเทศและยังต้องเช่าที่อยู่ จึงทำให้เขาเลือกที่จะอาศัยอยู่รวมกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานานแต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข โควิดทำให้เราได้เห็นถึงปัญหา เราไม่มีแผนรับรองเมื่อเกิดวิกฤติ แต่พอเป็นคนไทยเรามีการสนับสนุน เหมือนแรงงานต่างชาติไม่มีตัวตน เราทำเหมือนว่าเขาไม่ต้องได้รับการสนับสนุนใดๆ เขามาอยู่ตรงนี้ เขาเลือกเอง เขาต้องซาบซึ้งด้วยซ้ำที่เราให้เขาได้มาอยู่ตรงนี้ ซึ่งจุดนี้ทำให้เห็นชัดเลยว่าเราขาดความเข้าใจว่าจริงๆ แล้วเราต้องการเขาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา” ภัคชนก กล่าว ทั้งยังได้ตั้งคำถามกลับสู่สังคมถึงตัวบทกฎหมายที่ไม่ทันสมัยและไม่เอื้ออำนวยต่อความต้องการของแรงงานข้ามชาติ รวมถึง มายาคติ ความเชื่อผิดๆ ที่นำไปสู่บรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องของสังคม ไปจนถึงการเลือกใช้คำเรียกที่ให้ความรู้สึกแตกต่าง เป็นคนอื่น ซึ่งเพิ่มช่องว่างระหว่างคนไทยและแรงงานข้ามชาติ

หัวข้อที่สอง “มองคนนอกจากข้างใน” (Seeing Outsiders from Within) ประสบการณ์ตรงจากแรงงานข้ามชาติ กับการถูกกีดกันให้เป็นคนนอก ร่วมเปิดมุมมองโดย ซานวินอู โกอู เดฟ น้ำผึ้ง และ สมศรี โดยมี วรรณภาลักษณ์ บุญสกุลเจริญ ครีเอทีฟ จาก เลิฟ แฟรงค์กี เป็นผู้ดำเนินรายการ เปิดเสวนาด้วยการเล่าถึงที่มาของการมาทำงาน-ย้ายถิ่นฐานมายังประเทศไทย ด้วยความหวังในการมีหน้าที่การงาน รายได้ที่มากกว่าและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าการอยู่ในประเทศของตนเอง แต่ต้องมาพบกับข้อจำกัดและการถูกแบ่งแยก แรงงานข้ามชาติหลายคนต้องประสบปัญหาการถูกกดขี่ทางอารมณ์ความรู้สึกจากนายจ้าง การล้อเลียนจากเพื่อนร่วมงานในเรื่องภาษา การถูกต่อว่า ไปจนถึงการได้รับบทลงโทษที่แตกต่าง จึงเพิ่มช่องว่างระหว่างกัน น้ำผึ้งแชร์ความรู้สึกต่อคำว่าต่างด้าว “เหมือนพอเป็นประเทศเพื่อนบ้านเขาเรียกเราว่าต่างด้าว แต่พอมาจากประเทศที่เจริญแล้ว ทำงานที่ดีกว่า เขาเรียกว่าต่างชาติ ทำให้ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเรียกต่างกัน บางครั้งการถูกเรียกแบบนี้ก็ทำให้รู้สึกไม่มีค่า” เดฟกล่าวเสริม “คำนี้มักจะใช้เรียกในสถานที่ทางการ สถานที่ราชการต่างๆ อย่างเช่น เวลาผมไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล เขาก็จะเรียกว่า นายซัน เดฟ แรงงานต่างด้าว การถูกเรียกแบบนี้ทำให้เรารู้สึกแยกไปจากสังคม เป็นคนอีกกลุ่ม” พร้อมการเรียกร้องขอให้สื่อมวลชน เลิกตอกย้ำภาพจำ สร้างมายาคติผ่านการรายงานข่าวและพาดหัวข่าวที่ไม่เป็นกลางต่อแรงงานข้ามชาติ และเชิญชวนให้สร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันผ่านวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันระหว่างชาวไทยและแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน

รับชมย้อนหลังเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและร่วมผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงได้ตามลิงค์ ด้านล่างนี้:

• สำรวจสิทธิและการถูกเลือกปฏิบัติของแรงงานข้ามชาติในไทย: https://www.facebook.com/USAIDThailandCTIP/videos/3823887921031127/

• มองคนนอกจากข้างใน: https://www.facebook.com/USAIDThailandCTIP/videos/1025854658244799/

ติดตามข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมของโครงการ USAID Thailand CTIP ได้ที่เฟซบุ๊กเพจอย่างเป็นทางการ: https://www.facebook.com/USAIDThailandCTIP

รับชมนิทรรศการและกิจกรรมของแคมเปญได้ที่อินสตาแกรมแคมเปญ “ข้างในคนนอก”: @InsideKhonnok

พร้อมติดแฮชแท็ก #InsideKhonnok #หยุดแบ่งแยกด้วยคำว่าต่างด้าว #SeeOutsidersfromWithin


เกี่ยวกับแคมเปญ ข้างในคนนอก

แคมเปญ “ข้างในคนนอก” โดยความร่วมมือระหว่าง วินร็อค อินเตอร์เนชันแนล และ เลิฟ แฟรงค์กี ด้วยการสนับสนุนจาก องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้และการพูดคุยในสังคมไทยในวงกว้างเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย และเป็นกระบอกเสียงให้แรงงานข้ามชาติในประเทศ

แคมเปญ “ข้างในคนนอก” มุ่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนไทยและแรงงานข้ามชาติให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมไทยได้อย่างสงบสุข กระตุ้นให้คนไทยมองแรงงานข้ามชาติจากคุณค่าของความเป็นมนุษย์ข้างใน ปฏิบัติต่อ “คนนอก” ด้วยน้ำใจอันดีงาม และหยุดการเลือกปฏิบัติทางคำพูดโดยการตีตราแรงงานเหล่านี้ว่าเป็น “คนต่างด้าว”


เกี่ยวกับโครงการ USAID Thailand CTIP

โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย สนับสนุนโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ USAID Thailand Counter Trafficking in Persons (USAID Thailand CTIP) ดำเนินงานโดยองค์การ วินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดอัตราการค้ามนุษย์ และปกป้องสิทธิของแรงงานที่ถูกค้ามนุษย์ในประเทศไทย โดยลดความต้องการและแรงจูงใจในการใช้แรงงานที่ถูกค้ามนุษย์ คุ้มครองสิทธิของประชาชนกลุ่มเสี่ยง และเสริมสร้างระบบการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในประเทศไทย

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages