บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ประกาศงบไตรมาส 1/62 รายได้ 798.65 ล้านบาท กำไรสุทธิ 149.51 ล้านบาท มูลค่าเติมเงินรวมไตรมาสนี้ 10,337 ล้านบาท ชี้บริการโอนเงินเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พร้อมเร่งเครื่องอัดบริการหน้าตู้เพื่อความหลากหลายและครอบคลุมดันยอดใช้งานหน้าตู้ มองยอดเติมมีแนวโน้มฟื้นตัวหลังค่ายมือถือกลับมาเล่นตลาดระบบเติมเงิน ด้านผู้บริหารสั่งเดินหน้าลุยธุรกิจใหม่เสริมทัพรายได้เติบโต 10% ตามเป้าหมาย
นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ FSMART ผู้นำช่องทางการชำระเงินที่มีเครือข่ายมากที่สุดในประเทศไทยผ่าน “ตู้อัจฉริยะบุญเติม” เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2562 ว่า บริษัทฯมีรายได้รวมจากธุรกิจหลัก 798.65 ล้านบาท ลดลง 5.2% และกำไรสุทธิ 149.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันปี 2561 ที่มีรายได้ 842.14 ล้านบาท และกำไร 145.01 ล้านบาท ส่วนมูลค่าเติมเงินรวมปัจจุบันอยู่ที่ 10,337 ล้านบาท ลดลง 0.8% จากไตรมาส 1 ปีก่อนที่มีมูลค่าเติมเงินรวม 10,421 ล้านบาท โดยรายได้จากส่วนที่เติมเงินมือถือลดลง เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมการใช้ระบบเติมเงินมือถือ(Prepaid)ลดลง จากการทำกิจกรรมทางการตลาดในการผลักดันใช้ระบบรายเดือน(postpaid) ของค่ายมือถือต่างๆ และอำนาจการซื้อของผู้บริโภคระดับกลาง-ล่างลดลงช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่มูลค่าการใช้งานในบริการอื่นๆมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ที่ช่วยสนับสนุนรายได้ให้บริษัทฯ โดยเฉพาะบริการโอนเงินที่มียอดการใช้งานเฉลี่ย 30,553 รายการต่อวัน เพิ่มขึ้น 17.6% มีมูลค่าการใช้บริการเพิ่มขึ้น 18.8% หลังจากบริษัทฯเพิ่มจำนวนธนาคารในการรับฝากเงินเข้าบัญชี เช่นเดียวกับ บริการรับชำระบิลค่าบริการของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 25.9% การบริการเติมเงินออนไลน์ประเภทต่างๆ เช่น เติมเงิน E-Wallet มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 34.9% บริการ data package ที่มีมูลค่าการเติบโตถึง 388.6% แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายในการให้บริการของตู้บุญเติม และยังเป็นที่ต้องการของผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 จนถึงต้นปี 2562 ปริมาณยอดเติมเงินมือถือมีแนวโน้มพลิกตัวกลับมาดีขึ้น หลังจากค่ายมือถือเริ่มกลับมาผลักดันระบบเติมเงินมากขึ้น ประกอบกับการชะลอตัวและหดตัวของผู้ประกอบการตู้เติมเงินรายอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มประมาณ 20,000-30,000 ตู้ก่อนหน้านี้
“แม้ตลาดเติมเงินมือถือจะลดลงตามอุตสาหกรรมโดยรวม แต่หากดูบริการอื่นๆที่ให้บริการหน้าตู้บุญเติมแล้วยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการโอนเงินที่มียอดการใช้งานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทฯเชื่อว่าลูกค้าที่เปลี่ยนไปใช้ระบบรายเดือนจะกลับมาใช้ระบบเติมเงินเช่นเดิมหากหมดระยะสัญญาตามที่ค่ายมือถือกำหนดไว้ และการผลักดันการใช้งานระบบเติมเงินเพิ่มขึ้น จากจำนวนผู้ใช้ระบบเติมเงินมากกว่าผู้ใช้ระบบรายเดือนจำนวนมาก”นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการเพิ่มบริการใหม่ๆ หน้าตู้อย่างต่อเนื่อง นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ และอัตราการใช้บริการให้กับ บริษัทฯ แล้ว ยังเป็นส่วนช่วยตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็น การเป็นตัวแทนรับฝาก-โอนเงิน และชำระค่าบริการของธนาคาร โดยล่าสุดมี 4 ธนาคารที่พร้อมให้บริการที่ตู้บุญเติม ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และล่าสุดธนาคารออมสินที่เพิ่มในส่วนของการชำระหนี้เงินกู้ และออมเงินสำหรับเยาวชนอีกด้วย ขณะเดียวกัน บริษัทฯยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเป็นตัวแทนอีก 1 ธนาคาร ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ รวมทั้งเตรียมเปิดบริการขายประกัน การจำหน่ายตั๋ว รวมถึงบริการอื่นๆ หน้าตู้บุญเติมเพื่อให้ครอบคลุมการบริการมากที่สุด
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวถึงธุรกิจต่อยอด และธุรกิจใหม่ที่เป็นแผนการดำเนินงานในปีนี้ ว่า บริษัทฯได้เริ่มดำเนินการในบางธุรกิจ อาทิ ธุรกิจการจำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ และบริการพิสูจน์ตัวตน (Electronic Know Your Customer-e-KYC) โดยเริ่มแรกจะให้บริการขายซิมระบบเติมเงิน วัน-ทู-คอล ให้เอไอเอส ที่ดำเนินงานติดตั้งไปแล้วบางส่วน และคาดว่าสิ้นปี 2562 จะเพิ่มตู้ขายซิมของทุกเครือข่ายได้กว่า 2,000-3,000 ตู้ นอกจากนี้ ธุรกิจตู้รับส่งพัสดุและสินค้า (Boonterm Post) คาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปี ในขณะที่ธุรกิจปล่อยสินเชื่อคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้หากได้ใบอนุญาตจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับธุรกิจสถานีบริการชาร์จ/เปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ร่วมกับพันธมิตรอย่าง DTAC และบริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด (มหาชน) ที่จะติดตั้งประมาณ 10 สถานีในเขตกรุงเทพมหานครในไตรมาส 3 โดยทั้งหมดจะสนับสนุนให้บริษัทฯมีการเติบโตโดยรวมที่ 10% ตามเป้าหมายที่วางไว้
No comments:
Post a Comment