“ขยะติดเกาะ” พาไปรู้จักอีกมุมของเกาะยาวใหญ่ กับย่างก้าวสู่ความสำเร็จในการเดินหน้าจัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืน - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, December 16, 2020

“ขยะติดเกาะ” พาไปรู้จักอีกมุมของเกาะยาวใหญ่ กับย่างก้าวสู่ความสำเร็จในการเดินหน้าจัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืน



ปัญหาขยะเป็นปัญหาที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเองกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาขยะในทะเลและมหาสมุทร ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบในวงกว้างและต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้เราได้เห็นความพยายามในการร่วมมือกันจัดการขยะอย่างยั่งยืนเกิดขึ้น ซึ่งการจัดการขยะในแต่ละพื้นที่ก็มีบริบทและความยากง่ายที่แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับ “ขยะติดเกาะ” นั้นดูจะมีความท้าทายเป็นพิเศษ ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ ล้อมรอบด้วยน้ำ มีพื้นที่จำกัด การขนส่งสู่แผ่นดินใหญ่มีความท้าทาย จึงต้องการมาตรการที่แตกต่างออกไปในการจัดการปัญหาขยะ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข้อจำกัดที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น “เกาะยาวใหญ่” จังหวัดพังงา กลับกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเป็นพื้นที่ต้นแบบของการจัดการขยะในชุมชนบนเกาะและยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนารูปแบบการจัดการขยะต่อไป

“เกาะยาวใหญ่” ตั้งอยู่กลางทะเลอันดามัน ซึ่งแม้จะเป็นที่รู้จักในฐานะเกาะที่มีภูมิทัศน์สวยงาม ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยให้เข้ามาเยี่ยมชม กอปรกับชุมชนเกาะยาวใหญ่ยังคงวิถีชีวิตเรียบง่ายที่เชื่อมโยงธรรมชาติอย่างยั่งยืน แต่เกาะยาวใหญ่ก็ยังคงเผชิญกับปัญหาขยะและการจัดการขยะในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ย้อนดูสถานการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่เทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่เมื่อปี 2561 มีอัตราเฉลี่ยปริมาณขยะถึง 3,000 กิโลกรัมต่อวัน ที่ผ่านมาชุมชนกำจัด “ขยะติดเกาะ” ด้วยการเผาและฝังกลบ ทำให้เกิดผลกระทบจาก ขยะตกค้างในพื้นที่สาธารณะ มลพิษทางกลิ่นและสารพิษจากการเผาขยะ

ด้วยเหตุนี้มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จึงได้ร่วมมือกันภายใต้โครงการ การจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทย: ปฏิบัติการภาคประชาชนสู่การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการจัดการขยะเชิงบูรณาการบนเกาะยาวใหญ่ ที่เกิดจากความต้องการของคนในชุมชนตำบลเกาะยาวใหญ่ โดยตั้งเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการเสริมสร้างความเข้าใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมระดับบุคคล อันผลักดันไปสู่การจัดทำนโยบายการจัดการขยะติดเกาะ โดยจะมีการขยายผลการดำเนินงานแบบบูรณาการในชุมชนใกล้เคียง ทั้งสองชุมชนคือ ชุมชนตำบลพรุใน และตำบลเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา ภายในปี 2564

นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลก โคคา-โคล่า ตระหนักดีว่าบริษัทฯ มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก จากวิสัยทัศน์ระดับโลก World Without Waste โดยตั้งเป้าตามเก็บบรรจุภัณฑ์ของโคคา-โคล่า และใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลไม่น้อยกว่า 50% ภายในปี 2573 จึงได้เกิดการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่สะอาดปราศจากขยะมูลฝอย ทั้งบนพื้นดินและในทะเล สำหรับในประเทศไทย โคคา-โคล่าเน้นการทำงานในหลายมิติ อย่างเช่นความร่วมมือกับ IUCN เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปราศจากขยะทั้งบนบก และทางทะเล บนพื้นที่เกาะยาวใหญ่แห่งนี้ โดยมุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม เพื่อการจัดการขยะเชิงบูรณาการ อันจะทำให้ปริมาณขยะพลาสติก และขยะประเภทอื่นๆ ในชุมชนและในทะเลลดลงได้อย่างยั่งยืน”

จากความร่วมมือตลอดการทำงานตั้งแต่ปี 2561 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในระดับบุคคล ชุมชน และมีการจัดทำเทศบัญญัติเทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่ เรื่องหลักเกณฑ์การคัดแยกขยะมูลฝอย พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดในการจัดเก็บ และคัดแยกขยะ ตามหลัก 3R การใช้น้อย ใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้อัตราการรีไซเคิลระดับตำบลในปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 เทียบกับฐานข้อมูลเมื่อปี 2561 ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา “ขยะติดเกาะ” ของเกาะยาวใหญ่จากการขับเคลื่อนระดับชุมชนสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนั้นต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และแม้ว่าจะมีข้อจำกัดมากมายด้วยบริบทของความเป็นเกาะ เกาะยาวใหญ่ยังคงมุ่งหน้าสู่หมุดหมายที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในจัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืน

การจัดการ “ขยะติดเกาะ” ที่มีความท้าทายเป็นพิเศษนั้นเกิดขึ้นเป็นผลสำเร็จด้วยการทำงานใกล้ชิดร่วมกับชุมชน เมื่อชุมชนมีความตระหนักรู้ถึงปัญหาขยะแล้ว จึงสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรมได้ การที่ชุมชนเข้าใจว่าหากคัดแยกขยะอย่างถูกต้องตามหลักการแล้ว จะทำให้ขยะที่ถูกทิ้งนั้นกลายเป็น “วัสดุรีไซเคิล” ที่หากนำกลับเข้ากระบวนการการจัดการได้อย่างถูกต้องแล้ว จะส่งผลดีแก่ชุมชนในหลายมิติ ทำให้ชุมชนร่วมมือร่วมใจกันจัดการวัสดุรีไซเคิลเป็นอย่างดี ตั้งแต่การคัดแยกวัสดุรีไซเคิลในระดับครัวเรือน ประสานงานในระดับหมู่บ้านในการรวบรวมเอาวัสดุรีไซเคิลที่คัดแยกไว้มารวมกัน และนัดหมายผู้รับซื้อให้เข้ามารับวัสดุรีไซเคิลเพื่อเตรียมขนย้ายออกจากเกาะอย่างมีแบบแผนและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์รายเดือน เพื่อหมุนฟันเฟืองให้การจัดการ “ขยะติดเกาะ” เป็นไปอย่างยั่งยืน เช่น การรวมพลเก็บขยะและคัดแยกวัสดุรีไซเคิลตามพื้นที่สาธารณะ เพื่อนำไปจัดการตามกระบวนการที่เหมาะสมต่อไป

สุปราณี กำปงซัน หัวหน้าแผนงานประเทศไทย จาก IUCN กล่าวว่า “จากการดำเนินงานในพื้นที่เกาะยาวใหญ่ พบว่าปัญหาขยะและการจัดการขยะในชุมชนเกิดจากกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ และส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหานี้คือ

การขยายตัวด้านการท่องเที่ยว การขยายตัวของชุมชนและการบริโภคภายในท้องถิ่น รวมถึงระบบการจัดการขยะในชุมชนที่ยังไม่สมบูรณ์นัก โดยในระยะที่หนึ่งและสองของโครงการภายใต้ความร่วมมือกับ

มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย IUCN ได้ดำเนินการตามแผนการดำเนินงานด้านการเสริมสร้างศักยภาพ ความรู้ความเข้าใจของชุมชนด้านการจัดการขยะ การพัฒนากรอบนโยบายการจัดการขยะในระดับตำบล การออกเทศบัญญัติและประกาศเทศบาลด้านนโยบายการจัดการขยะในชุมชน ทำให้ทั้ง 4 ชุมชนบนเกาะมีแผนการจัดการขยะทั้งในระดับชุมชนและระดับตำบลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้ และสามารถขยายผลไปยังชุมชนใกล้เคียง อย่างเกาะยาวน้อย และตำบลพรุในในอนาคต นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาต้นแบบการจัดการขยะชุมชนในพื้นที่เกาะ และรูปแบบการจัดการขยะนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่เกาะอื่นๆ ในประเทศต่อไป”

มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จะยังคงเดินหน้าโครงการ การจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทย: ปฏิบัติการภาคประชาชนสู่การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย ระยะที่สามตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เพื่อสานต่อปณิธานในการเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านการจัดการขยะเชิงบูรณาการ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมระดับบุคคล ผลักดันให้ปริมาณขยะพลาสติก และขยะอื่นๆ ที่หลุดลอดลงทะเลลดลง พร้อมกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านการจัดการขยะพลาสติกทั้งในระดับท้องถิ่นในพื้นที่อื่นๆ และในระดับประเทศต่อไป

รูปภาพประกอบบทความประชาสัมพันธ์
   




No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages