ไมโครซอฟท์ชี้เทรนด์การทำงานยุคหลังโควิด ชู 2 องค์กรตัวอย่างที่เดินหน้าต่อได้ด้วยนวัตกรรมและความคล่องตัว - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Tuesday, May 19, 2020

ไมโครซอฟท์ชี้เทรนด์การทำงานยุคหลังโควิด ชู 2 องค์กรตัวอย่างที่เดินหน้าต่อได้ด้วยนวัตกรรมและความคล่องตัว

กรุงเทพฯ 19 พฤษภาคม 2563 – ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย หนุนภาคธุรกิจไทยปรับทิศทางรับมือความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคหลังโควิด-19 พร้อมชูสององค์กรจากวงการโทรคมนาคมและภาคการศึกษาที่นำเทคโนโลยีมาผสานกับแนวทางการปฏิบัติงานอย่างลงตัว เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ยังเดินหน้า แม้ในสภาพการณ์ปัจจุบัน

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “สถานการณ์ที่ทุกคนและทุกองค์กรทั่วโลกต่างต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ นับเป็นบทพิสูจน์ถึงศักยภาพในการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการรับมือกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง โดยทุกองค์กรต้องหันกลับมาตั้งคำถามว่า ‘เรามีเครื่องมือที่พร้อมให้พนักงานเดินหน้าทำงานต่อไปได้หรือยัง?’

“สำหรับไมโครซอฟท์เอง เรามีเทคโนโลยีที่พร้อมสนับสนุนให้พนักงานรับมือกับเหตุฉุกเฉินและปรับรูปแบบการทำงานได้อย่างคล่องตัวอยู่แล้ว แต่ความท้าทายประการสำคัญที่เรายังต้องเผชิญ คือการเดินหน้าแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไปของลูกค้าแต่ละรายนั่นเอง ซึ่งเทคโนโลยีอย่างเดียวอาจไม่สามารถเอาชนะอุปสรรคในส่วนนี้ได้ เนื่องจากความเข้าใจในความต้องการของคนทำงานในฐานะเพื่อนมนุษย์ก็เป้นองค์ประกอบที่สำคัญไม่แพ้โครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิค”

เอไอเอสยืนหยัดเคียงข้างชีวิตยุคดิจิทัล เน้นย้ำความสำคัญของการเตรียมพร้อม เพื่อสร้างความยืดหยุ่นทั่วทั้งธุรกิจ พร้อมส่งมอบบริการให้กับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง

ในฐานะผู้นำ Digital Life Service Provider อันดับหนึ่งของประเทศไทย เอไอเอสมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงทุกคนและทุกองค์กรทั่วไทยให้ยังสามารถเข้าถึงกันและกันได้ ในสภาวะที่การเดินทางมาพบปะกันไม่สามารถทำได้เช่นเดิม ด้วยเหตุนี้เอง การเสริมความยืดหยุ่นเพื่อให้ธุรกิจของเอไอเอสยังเดินหน้าต่อได้อย่างราบรื่น ควบคู่กับความปลอดภัยในชีวิตพนักงาน จึงเป็นสิ่งที่เอไอเอสให้ความสำคัญมาเป็นลำดับแรก

เอไอเอสได้ตัดสินใจประกาศนโยบายให้พนักงานกว่า 12,000 คน ทำงานจากที่บ้านในวันที่ 21 มีนาคม และเลือกใช้โปรแกรมสื่อสารอัจฉริยะ ไมโครซอฟท์ ทีมส์ (Microsoft Teams) แพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลางของการทำงานร่วมกันในโลกดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริการ Office 365 มาเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงคนเอไอเอสให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างต่อเนื่องและคล่องตัว เพื่อร่วมขับเคลื่อนและส่งมอบบริการให้กับลูกค้าได้อย่างไม่มีสะดุด

“สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้ Environment รอบตัวเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับการประกาศเปลี่ยนแปลงให้พนักงานทำงานจากที่บ้านก็เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเหมือนกัน แต่นั่นก็มิได้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อการทำงานของพนักงานเลยแม้แต่น้อย เพราะเราได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้าภายใต้แผนงานเพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP-Business Continuity Plan) ของเราแล้ว”
นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าว และว่า “การดำเนินการตามแผน BCP เราได้เตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน ซึ่งรวมถึงการติดต่อสื่อสารของพนักงานระหว่างทำงาน โดยได้ Implement โปรแกรม Office 365, ไมโครซอฟท์ ทีมส์ และไมโครซอฟท์ วันไดรฟ์ เข้ามาใช้งานในองค์กรอย่างทั่วถึงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 เพื่ออำนวยความสะดวกการทำงานร่วมกันเป็นทีม เสริมความแข็งแกร่งให้ทุกทีมมีความยืดหยุ่น พร้อมให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะและความเข้าใจในเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญที่มีอยู่เดิม จากการที่เราได้เข้าไปช่วยติดตั้งและวางระบบให้กับลูกค้าองค์กรมาก่อน

โดยพนักงานเอไอเอสได้ใช้งาน Microsoft Teams ในการติดต่อสื่อสารระหว่างแผนก, การรับส่งไฟล์ระหว่างกัน ที่สามารถส่งได้ตั้งแต่ไฟล์ขนาดเล็กไปจนถึงไฟล์ขนาดใหญ่โดยไม่มีข้อจำกัด การประชุมทางไกลและแชร์หน้าจอร่วมกัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้สถานที่ห้องประชุมหรือเดินทางระหว่างตึกมาหากัน พร้อมให้ใช้งานได้ทุกแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็นพีซี โน้ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต นอกจากนี้ เอไอเอสยังได้มอบระบบจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ ไมโครซอฟท์ วันไดรฟ์ ความจุ 1 TB ให้กับพนักงานทุกคนใช้งานฟรี เพื่อใช้สำรองข้อมูลบนระบบคลาวด์ ให้สามารถเรียกใช้งานและเข้าถึงได้ตลอดเวลา

ซึ่งตลอดช่วงต้นปี 2563 เอไอเอสได้จัดกิจกรรมสื่อสารภายในองค์กรผ่านการอบรมการใช้งาน ให้พนักงานสามารถใช้ศักยภาพของเครื่องมือจากไมโครซอฟท์ในการทำงานวันต่อวันได้เต็มที่ผ่านไมโครซอฟท์ ทีมส์ โดยนอกจากการฝึกสอนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มภายใน LearnDi ให้สามารถเข้าถึงพนักงานได้อย่างทั่วถึง ทีมงานของเอไอเอสยังเฟ้นหาพนักงานดาวเด่นที่มีความเข้าใจในเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ลึกซึ้งเป็นพิเศษ เพื่อให้มีบทบาทเป็น “ซูเปอร์ยูสเซอร์” (superuser) พร้อมแบ่งปันความรู้ความเข้าใจให้เพื่อนพนักงานด้วยกัน และช่วยแบ่งเบาหน้าที่ในด้านการสนับสนุนผู้ใช้แบบวันต่อวันที่ทีมงานฝ่ายไอทีต้องรับมือ

จากการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ต้นนับแต่สถานการณ์ยังไม่รุนแรง ทำให้พนักงานเอไอเอสมีความคุ้นเคยกับการใช้ไมโครซอฟท์ ทีมส์ พอสมควร ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องปรับตัว Work From Home กันอย่างปัจจุบันทันด่วน คนเอไอเอสก็พร้อมนำเครื่องมือดังกล่าวมาต่อยอดใช้งานทันที โดยเฉพาะ ไมโครซอฟท์ ทีมส์ ที่เข้ามาเป็นแพลตฟอร์มสื่อสารหลักของเรา ให้สามารถประชุมงานร่วมกันได้แม้จะอยู่ต่างสถานที่กัน และยังสามารถขยายศักยภาพของแพลตฟอร์มไปสู่การประยุกต์ใช้งานอย่างสร้างสรรค์ เช่นการจัดสัมภาษณ์พิเศษผู้บริหารให้กับสื่อมวลชนเข้ามาสัมภาษณ์ผ่านไมโครซอฟท์ ทีมส์ ที่รองรับผู้เข้าร่วมกลุ่มได้สูงสุดถึง 250 คน ได้มาตรฐานและมั่นใจในความปลอดภัยข้อมูล ซึ่งมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้งานในสถานการณ์ที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคมเช่นในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไมโครซอฟท์ ทีมส์ ที่ช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งมอบบริการให้กับลูกค้าได้อย่างไม่มีสะดุด

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 กำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง เป็นสัญญาณว่า Digital Transformation อย่างเต็มรูปแบบได้เกิดขึ้นแล้ว โดยไม่รอให้เราได้ต่อรองอีกต่อไป อย่างเช่นการทำงานก็จะไม่ถูกจำกัดด้วยสถานที่อีกแล้ว แต่จะอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของทุกคน การมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพช่วยเสริมศักยภาพการทำงานในยุคดิจิทัลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเอไอเอสพร้อมเปิดโอกาสให้พนักงานได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ เพื่อเสริมศักยภาพการทำงานตั้งแต่วันนี้และในอนาคต”

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขับเคลื่อนภาคการศึกษา พร้อมสร้างความชัดเจนในการสื่อสาร ด้วยระบบการเรียนการสอนออนไลน์บนแพลตฟอร์มเดียว
เพื่อความปลอดภัยของนักศึกษา กลุ่มคณาจารย์ และบุคลากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประกาศปิดทำการในแต่ละวิทยาเขตตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมเป็นต้นมา โดยทำการย้ายการเรียนการสอนสู่รูปแบบออนไลน์โดยสมบูรณ์

เพื่อสร้างความชัดเจนและลดความซับซ้อนในการปรับเปลี่ยนรูปแบบนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ตัดสินใจเลือก ไมโครซอฟท์ ทีมส์ เพื่อการศึกษา (Microsoft Teams for Education) เป็นแพลตฟอร์มหลักหนึ่งเดียวสำหรับนักศึกษาทั้ง 41,400 คน เพื่อจัดการเรียนการสอนผ่านวิดีโอ พร้อมบริหารจัดการชั้นเรียนที่มีจำนวนนักศึกษาแตกต่างกันเป็นอย่างมาก นับจากจำนวนเฉลี่ยเริ่มต้นราว 50 คน ไปจนถึงสูงสุดกว่า 500 คน

ไมโครซอฟท์ ทีมส์ เพื่อการศึกษา เป็นแอปพลิเคชันเพื่อการสื่อสารและทำงานเป็นทีมที่รองรับการใช้งานในภาคการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ รองรับจำนวนผู้เรียนได้สูงสุดถึง 5,000 คนต่อ 1 ห้องเรียน และยังสามารถสร้างห้องเรียนย่อย เพื่อแบ่งกลุ่ม หรือแบ่งหัวข้อการเรียนได้กว่า 200 ห้องย่อย ทั้งยังสามารถวัดระดับการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในห้องเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้งานควบคู่ไปกับโปรแกรมในการจัดการระบบการเรียนการสอนอย่าง Moodle ที่ทางมหาวิทยาลัยใช้งานอยู่แล้วในด้านงานเอกสาร การให้คะแนน ลงทะเบียน และระบบการบ้านออนไลน์ได้เป็นอย่างดี โดยทั้งผู้เรียนและผู้สอนสามารถล็อกอินเข้าใช้งาน ไมโครซอฟท์ ทีมส์ ผ่านบัญชีผู้ใช้เดิมที่ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกให้ได้อย่างง่ายดาย ช่วยลดความสับสนวุ่นวายที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างแพลตฟอร์มและบริการต่าง ๆ ได้

นอกจากนี้ นักศึกษายังสามารถทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการแชร์เอกสารขนาดใหญ่สูงสุด 15GB ต่อไฟล์ และแก้ไขพร้อมกันได้สูงสุด 100 คน บนพื้นที่เก็บขนาดใหญ่ที่มอบให้ฟรี อีกทั้งยังบริหารจัดการเวลาในการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นจากความสะดวกในการตรวจสอบตารางการเรียนที่ระบุไว้ในปฏิทินของโปรแกรมไมโครซอฟท์ ทีมส์ เพื่อการศึกษา และ Outlook โดยตรง ขณะที่บริการสร้างและกรอกแบบฟอร์มออนไลน์อย่าง Microsoft Forms ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Office 365 ก็ถูกนำมาใช้งานในการจัดสอบออนไลน์อีกด้วย

เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบุคลากร ทางมหาวิทยาลัยยังได้นำเสนอวิดีโอเพื่อแนะนำวิธีการใช้งาน ไมโครซอฟท์ ทีมส์ เพื่อการศึกษา (Microsoft Teams for Education) ในระดับเบื้องต้นสำหรับทั้งผู้เรียนและผู้สอน โดยเนื้อหานี้สามารถรับชมได้ผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย ทั้งยังมีการจัดทำไมโครไซต์แยกต่างหากสำหรับบุคลากรของทางมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ เพื่อสร้างการความเข้าใจในไมโครซอฟท์ ทีมส์อย่างทั่วถึง พร้อมขยายไปรองรับการจัดงานสัมมนาออนไลน์หรือ webinar อีกด้วย

เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาด้านค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงระบบการเรียนการสอนออนไลน์ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ทางมหาวิทยาลัยจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้วยการแจกซิมอินเตอร์เน็ตและการมอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกัน การเลือกใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์ ทีมส์ เพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริการ Office 365 ภายใต้ข้อตกลงการซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และบริการจากไมโครซอฟท์ที่ทางมหาวิทยาลัยมีอยู่แล้วแต่เดิม จึงทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือการลงทุนเพิ่มเติมในด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำการเรียนการสอนเสร็จสิ้นภาคเรียนล่าสุดไปเป็นที่เรียบร้อย โดยที่เฉลี่ยแล้วมีผู้ใช้งานไมโครซอฟท์ ทีมส์ ในช่วงปลายภาคเรียนราว 30,000 คนต่อวัน

                                                 ###

ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์ 

บริษัท ไมโครซอฟท์ (Nasdaq “MSFT” @Microsoft) ผู้นำระดับโลกในด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มและบริการที่มุ่งเสริมประสิทธิภาพการสร้างสรรค์ในโลกยุคโมบายและคลาวด์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้ทุกคนและทุกองค์กรทั่วโลกให้บรรลุผลสำเร็จทีดียิ่งกว่า 

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536  มีความมุ่งมั่นในการช่วยให้คุณภาพชีวิตคนไทย 70 ล้านคน ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์   ไมโครซอฟท์ ส่งเสริมให้คนไทยและภาคธุรกิจได้ตระหนักถึงศักยภาพที่มีอย่างเต็มเปี่ยมผ่านการใช้เทคโนโลยี  เทคโนโลยีที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง ในการทำงาน การใช้ชีวิต และการสื่อสาร  ไมโครซอฟท์ให้บริการซอฟต์แวร์ บริการ และดีไวซ์ ที่สามารถก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ  มีความสะดวกทันสมัย  และช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ไมโครซอฟท์ ไม่หยุดนิ่งในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ พันธมิตร อย่างต่อเนื่องในการนำพลังของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย    

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปเยี่ยมชมหรือติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดได้ทางศูนย์ข่าวสารประเทศไทย (http://news.microsoft.com/th-th/) และทวิตเตอร์ @MicrosoftTH 

เกี่ยวกับเอไอเอส

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ผู้นำด้าน Digital Life Service Provider อันดับ 1 ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการมากที่สุดรวม 1450 MHz และมีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดกว่า 41.1 ล้านเลขหมาย (ณ มีนาคม 2563) พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมจากเทคโนโลยี 5G ผ่าน 3 ธุรกิจ ได้แก่ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่, บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ AIS Fibre และบริการดิจิทัล 5 ด้าน ได้แก่ วิดีโอ คลาวด์ ดิจิทัลเพย์เมนท์ อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และบริการร่วมกับพาร์ทเนอร์ ตลอดจนการขยายไปสู่กลุ่มธุรกิจใหม่อย่างบริการ AIS eSports, AIS Insurance ทั้งหมดนี้ เพื่อสนับสนุนความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ ขยายขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยไปพร้อมกัน

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ www.ais.co.th

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages