“ท่ามกลางปัจจัยกดดันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี รวมถึงความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลาดตราสารหนี้ไทยในปีที่ 2562 ถือว่ามีการขยายตัวในระดับที่ดี ภาคเอกชนไทยระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาวทั้งปีทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1 ล้านล้านบาท ส่วนเงินลงทุนจากต่างประเทศในปีที่ผ่านมา เป็นการขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศกว่า 8.4 หมื่นล้านบาท โดยมีการเข้าซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาวแต่ขายออกสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้นด้วยมูลค่าที่สูงกว่า”
นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับแรงกดดันและความกังวลต่างๆ ตลอดทั้งปี ตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2562 ถือว่ามีการขยายตัวในระดับที่ดี มูลค่าคงค้างรวมที่ 13.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.72 จาก 12.79 ล้านล้านบาทในปีก่อน โดยปริมาณการซื้อขายในตลาดรองเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 11 จากปีที่ผ่านมา ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน มูลค่าคงค้างมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9 จากปีที่แล้วจากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวซึ่งกว่าร้อยละ 94 มีอันดับเครดิตอยู่ในกลุ่ม Investment grade มีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นที่อยู่ในกลุ่ม Under investment grade และ non-rated หรือที่เรียกว่า High yield bond
ด้านการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว ในปีที่ผ่านมาภาคเอกชนมียอดการออกสูงเป็นประวัติการณ์ ทำสถิติใหม่ที่ 1.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากปีที่แล้ว นำโดยการออกของธุรกิจใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ เงินทุนและหลักทรัพย์ และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มียอดการออกพุ่งขึ้นกว่า 3 เท่าในปีที่แล้ว ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นมีมูลค่าการออกลดลงมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดลงของการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (ตั๋ว PN)
การลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในปี 2562 เป็นการไหลออกสุทธิ 84,452 ล้านบาท โดยมีการเข้าซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (52,456 ล้านบาท) แต่ขายออกสุทธิในมูลค่าที่สูงกว่าในตราสารหนี้ระยะสั้น (136,909 ล้านบาท) ทำให้ ณ สิ้นปี 2562 ต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 991,779 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 10.49 ของมูลค่าคงค้างพันธบัตรรัฐบาลและธปท. ซึ่งลดลงจากร้อยละ 11.86 เมื่อปลายปีก่อนหน้า
การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในปี 2562 มีทิศทางการปรับตัวลดลงตลอดทั้งปีในทุกรุ่นอายุ โดยเฉพาะในไตรมาส 3 Bond yield อายุ 5 ปี และ 10 ปีปรับลดลงถึง 75 bps. และ 100 bps. จากต้นปีมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 1.34 และร้อยละ 1.43 ตามลำดับเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 62 เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีทิศทางแบนราบลง (Flatten) ทั้งเส้น จากนั้นในไตรมาสสุดท้าย Bond yield อายุต่ำกว่า 10 ปีขยับลงต่อ โดย ณ สิ้นปี รุ่นอายุไม่เกิน 1 ปีปรับตัวลงราว 34-53 bps. นับตั้งแต่ต้นปี ส่วนรุ่นอายุ 10 ปี ปรับลดลง 94 bps. จากที่ร้อยละ 2.43 เมื่อตอนต้นปีลงมาที่ร้อยละ 1.49 เมื่อสิ้นปี 2562
สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2563 นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยคาดว่า บริษัทเอกชนไทยจะยังคงมีความต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาวอย่างต่อเนื่องในปี 2563 นี้โดยประมาณการว่า น่าจะมีมูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวแตะ 850,000 ล้านบาทในปีนี้ และ กนง. อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรก ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นขยับลดลงตาม ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10 ปีซึ่งทำระดับต่ำสุดใหม่ในช่วงเปิดต้นปีมานี้ น่าจะมีโอกาสปรับตัวลงในกรอบจำกัด และขยับขึ้นในกรอบแคบเมื่อสงครามการค้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น
No comments:
Post a Comment