ดีอี “เนรมิตอาคารแสดงประเทศไทย” โชว์ศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลสู่สายตาประชาคมโลก ในงาน World Expo 2020 Dubai คาดมีผู้เข้าชมทะลุ 1.7 ล้านคน - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Friday, January 11, 2019

ดีอี “เนรมิตอาคารแสดงประเทศไทย” โชว์ศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลสู่สายตาประชาคมโลก ในงาน World Expo 2020 Dubai คาดมีผู้เข้าชมทะลุ 1.7 ล้านคน


                  
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงาน World Expo 2020 Dubai ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2563 – 10 เมษายน 2564 รวมตลอดระยะเวลาจัดแสดงนิทรรศการทั้งสิ้น 6 เดือน เพื่อแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทยให้ทั่วโลกได้รับรู้ รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกมิติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและเชื่อมโยงประเทศสู่เวทีโลก อีกทั้งยังปฎิรูปประเทศไทยไปสู่เป้าหมายของการเป็นดิจิทัลไทยแลนด์อย่างเต็มรูปแบบ และเป็นเวทีที่ประเทศไทยสามารถประกาศศักยภาพในการเป็นผู้นำเทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน

“กระทรวงดีอีได้เตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการวางแผนขั้นตอนการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 3 ปี ในการพัฒนาแนวคิดและการออกแบบ รูปแบบการจัดงาน รวมทั้งการก่อสร้างอาคารแสดงประเทศไทย เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงและเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนรูปแบบการจัดงานของประเทศไทยอยู่ภายใต้แนวคิด“Mobility for the future การขับเคลื่อนสู่อนาคต”เพื่อแสดงถึงการเคลื่อนไหวอย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้นของผู้คน สินค้า รวมถึงแนวคิดทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ และการเชื่อมต่อกับระบบดิจิทัล โดยอาคารแสดงประเทศไทยจะเสนอแนวคิดของการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศไทยในมิติ Digital for Development ผสมผสานกับการนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านการพัฒนาด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่โดดเด่น มั่นใจว่าอาคารแสดงประเทศไทยจะได้รับความนิยมจากผู้เข้าชมไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านคนหรือไม่น้อยกว่า 7% ของจำนวนผู้เข้าชมงานทั้งหมด”ดร.พิเชฐกล่าว

สำหรับการเข้าร่วมงาน World Expo 2020 Dubai ครั้งนี้นับเป็นเวทีโลกที่ทำให้ประเทศไทยประกาศศักยภาพความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ รวมทั้งเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของไทยต่อประชาคมโลก โดยเฉพาะคนไทยสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ต่อยอดจากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาดั้งเดิม

ได้อย่างสอดคล้องลงตัว ตลอดจนแสดงศักยภาพของประเทศไทยในด้านธุรกิจ การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล จึงทำให้นักลงทุนทั่วโลกเกิดความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนหรือร่วมลงทุนและตั้งฐานการลงทุนในประเทศไทยทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม

พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยว่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามจำนวนมาก อีกทั้งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวเห็นว่าเที่ยวเมืองไทยสะดวกปลอดภัย ขณะที่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศและนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาลไทยกับสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ และประเทศสมาชิกอื่นที่เข้าร่วมงาน

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่างานแสดงนิทรรศการ World Expo 2020 Dubai ได้กำหนดหัวข้อหลัก (Theme) คือ “CONNECTING MINDS, CREATING THE FUTURE” หรือ"เชื่อมความคิด สร้างอนาคต”โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นเหมือนสัญญาณที่จะส่งต่อให้ทุกคนร่วมใจกันพัฒนาโลก ประกอบกับสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป รวมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างภาคองค์กรและภูมิศาสตร์ เพื่อตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนส่งเสริมการนำเสนอนวัตกรรม โดยแนวคิดในการจัดงานครั้งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อย่อย ได้แก่ 1.โอกาส (Opportunity) 2.การขับเคลื่อน (Mobility) และ3.ความยั่งยืน (Sustainability)

นอกจากนี้ World Expo 2020 Dubai ยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจของโลก จากนิทรรศการเพื่อสร้างความตระหนักและการเรียนรู้แก่กลุ่มประชากรในพื้นที่จัดงานและประเทศใกล้เคียง เป็นนิทรรศการแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างแบบไร้พรมแดนของประชาคมโลกผ่านกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนและการจับคู่ธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้าร่วมงาน World Expo จากอดีตจนถึงปัจจุบันกว่า 30 ครั้ง เป็นระยะเวลากว่า 140 ปี

ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่าประเทศไทยจัดสร้างอาคารแสดงประเทศไทยในพื้นที่โซน Mobility บนพื้นที่กว่า 3,606 ตารางเมตร หรือ 2.25 ไร่ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด“Mobility for the future” การขับเคลื่อนสู่อนาคต” เพื่อแสดงถึงวิถีการเชื่อมสัมพันธไมตรีในแบบชาวสยามเมืองยิ้มที่สร้างความประทับใจให้กับต่างชาติ โดยเฉพาะเอกลักษณ์ของยิ้มสยามคือรอยยิ้มที่จริงใจทำให้ประเทศไทยแตกต่างและโดดเด่นจนกลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงคนไทยกับคนทั่วโลกได้เป็นอย่างดี (Connecting minds) และนี่เป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคต (Creating the Future)

ส่วนการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมจะใช้ “สีทอง”เป็นสีที่สื่อถึงแผ่นดินทองที่มีความอุดมสมบูรณ์และเปี่ยมไปด้วยอารยธรรมที่มีมาอย่างยาวนานเป็นองค์ประกอบของอาคารเครื่องยอดต่างๆ แสดงออกถึงความสำคัญของอาคาร ดังนั้นผู้ออกแบบจึงนำสีทองมาเน้นเป็นจุดเด่นให้แก่ตัวอาคารแสดงประเทศไทย ขณะที่“การไหว้”ในความหมายที่รู้จักกันไปทั่วโลกคือการสวัสดี ดังนั้นจึงสร้างอาคารแสดงประเทศไทยให้มีลักษณะเป็นซุ้มโค้งคล้ายคนประนมมือไหว้ถือเป็นจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะของอาคาร หมายถึงการยินดีต้อนรับสู่อาคารแสดงประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังเลือกใช้“พวงมาลัย”เป็นสัญลักษณ์ประจำอาคารประเทศไทย เพื่อสื่อถึงการต้อนรับที่จริงใจ และได้นำรายละเอียดของพวงมาลัยมาใช้ในงานตกแต่งผนังของอาคาร โดยมีรูปแบบการจัดวางองค์ประกอบล้อไปกับรูปแบบของการร้อยมาลัยที่มีเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสร้างเอกลักษณ์พิเศษให้กับอาคารแสดงประเทศไทยทางด้านกายภาพ โดยที่พวงมาลัยนั้นได้ถูกดัดแปลงให้เข้ากับยุคดิจิทัลด้วยลายเส้นที่สานต่อกันเป็นรูปร่างของพวงมาลัย เปรียบเสมือนการเชื่อมต่อของคนไทย วัฒนธรรม และ วิถีชีวิต โดยที่พวงมาลัยนี้ มีอุบะ 4 ช่อ เพื่อแสดงถึงไทยแลนด์ 4.0


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages