สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยปี2561 และแนวโน้มในปี 2562 - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Monday, January 21, 2019

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยปี2561 และแนวโน้มในปี 2562




“ท่ามกลางกระแสความกดดันของทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ตลาดตราสารหนี้ไทยปี2561 ยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง มียอดการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวสูงกว่า 8 แสนล้านบาท ทำลายสถิติติดต่อกันเป็นปีที่ 3ด้านเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ แม้หลายประเทศในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะเผชิญภาวะเงินทุนไหลออก แต่ตลาดตราสารหนี้ไทยยังมีกระแสเงินลงทุนไหลเข้าต่อเนื่อง ดันมูลค่าการถือครองของต่างชาติในตราสารหนี้ไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน ก่อนจะย่อลงมาอยู่ที่ 9.8 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี2561 โดยมีกระแสเงินทุนไหลเข้าสุทธิทั้งปีกว่า 1.3 แสนล้านบาท”



นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวถึงภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2561 ที่ผ่านมาว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงเติบโตได้ดีมีมูลค่าคงค้างรวมทะลุ13 ล้านล้านบาทเป็นครั้งแรก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 จาก 11.71 ล้านล้านบาทในปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 13.06 ล้านล้านบาท ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว มียอดการออกทะลุ 8 แสนล้านบาทติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยในปี 2561 มียอดการออกสูงสุดทำลายสถิติที่ 878,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.2 จากปีก่อนหน้านี้(เพิ่มขึ้น 51,151 ลบ.) โดยมาจากกลุ่ม Real sector ที่มีการออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 แต่ลดลงในกลุ่ม Bank&Finance ร้อยละ 19

ตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นปี 2561 ในภาพรวมมีมูลค่าการออกลดลงร้อยละ 7 โดยภาค Real sector (ไม่รวมกลุ่ม Bank&Finance และการกู้ยืมภายในกลุ่มธุรกิจ) ลดลงร้อยละ 7 จากการที่ ก.ล.ต. ปรับปรุงเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภาค Bank&Finance ออกลดลงถึงร้อยละ 49 จากการลดการระดมทุนระยะสั้น ในขณะที่กลุ่มธุรกิจเดียวกันมีการกู้ยืมในรูปของตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30

การลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ใน 11 เดือนแรก มีการไหลเข้าสุทธิกว่า 1.5 แสนล้านบาทดันให้ยอดการถือครองของต่างชาติขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ทะลุ1 ล้านล้านบาทไปอยู่ที่ 1,002,499 ล้านบาท ก่อนจะย่อต่ำลงอยู่ที่ 985,773 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 หรือเท่ากับร้อยละ 11.8 ของมูลค่าคงค้างรวมพันธบัตรรัฐบาลและธปท. โดยมีกระแสเงินทุนไหลเข้าสุทธิทั้งปีที่ 133,764 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเข้าซื้อสุทธิในตราสารหนี้ของภาครัฐระยะยาว (239,255 ล้านบาท) และไหลออกจากตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นที่ถือจนครบก าหนดรวมกับการซื้อสุทธิ(-105,878 ล้านบาท)

แม้ว่าในปี 2561 ตลาดจะเผชิญกับแรงกดดันของทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ แต่ตลอดทั้งปี 2561 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุต่ำากว่า 10 ปี ปรับขึ้นในช่วง 13-42 bps. ซึ่งต่ำากว่าผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯในช่วงอายุเดียวกัน ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของไทยปรับตัวลดลง 3 bps. ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจนถึงรุ่นอายุ 10 ปี ของไทยต่ำกว่าเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2561 จนถึงปัจจุบัน


สำหรับทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในปี 2562 นี้ นายธาดา พฤฒิธาดา มีความเห็นว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับร้อยละ1.75 ตลอดทั้งปี ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวจะแกว่งตัวแคบๆ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน  จากอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ และเศรษฐกิจโลกที่ถูกกดดันจากสงครามการค้า

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages