นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวถึงภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย ในไตรมาสแรกปี 2562 ว่าตลาดตราสารหนี้ไทยโดยรวมยังคงเติบโตได้ดี มีมูลค่าคงค้างรวม 12.96 ล้านล้านบาท ขยายตัวขึ้นร้อยละ 1.3 จาก 12.79 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา โดยตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวมีการออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ทำลายสถิติการออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไตรมาส 1 โดยส่วนใหญ่เป็นการออกของบริษัทขนาดใหญ่ในภาค Real sector ที่เสนอขายให้แก่นักลงทุนกลุ่มสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ (II/HNW) แต่ในด้านของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น มีมูลค่าการออกลดลง โดยกลุ่มธุรกิจเดียวกันได้เปลี่ยนจากการออกตั๋วบีอีไปเป็นการกู้ยืมกันในรูปแบบของสัญญาเงินกู้แทน ส่วนภาค Real sector และ Bank&Finance คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นการชะลอการออกเพื่อรอจังหวะดอกเบี้ยที่เหมาะสมหลังจากที่ต้นทุนการกู้ยืมระยะสั้นปรับตัวสูงขึ้นตามการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งผู้ออกของภาค Real sector ที่มีอันดับเครดิตสูง (ตั้งแต่ A- ขึ้นไป) ยังคงออกอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ลดลงจากผู้ออกที่อันดับเครดิตไม่สูง (ต่ำกว่า BBB- ลงไป) และผู้ออก Non-rated
ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในช่วงไตรมาสแรกปี 2562 นี้ นักลงทุนต่างชาติมีการขายออกสุทธิตลอด 3 เดือนแรกรวม 42,305 ล้านบาท โดยส่วนมากเป็นการขายออกในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นเพื่อรับรู้ผลกำไรหลังจากที่ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนเป็นขาขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่ยังมีการเข้าซื้อสุทธิในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสหนึ่งนี้ ต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 942,993 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.3 ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีความชันน้อยลง โดยรุ่นอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง 5-12 bps. ส่วนรุ่นอายุ 2-10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 1-9 bps.
No comments:
Post a Comment