นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า "การผลักดันประเทศไทย ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ได้นั้น ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆ ต้องบูรณาการช่วยเหลือกันในหลากหลายมิติ ในการขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 โดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนาด้านการเงิน และการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบบัญชีชุดเดียว เพื่อจุดประกายให้ผู้ประกอบการ SMEs ของไทย ได้เห็นถึงความสำคัญของการเข้าสู่ระบบทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการเกิดความเข้มแข็งและดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน
ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศประมาณ 3 ล้านราย และมีการจดแจ้งเป็นนิติบุคคลประมาณ 6 แสนราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีประมาณ 4.5 แสนราย ที่จดแจ้งการทำบัญชีเล่มเดียวแล้ว ที่เหลืออีกประมาณ 1.5 แสนราย อยู่ระหว่างรอดำเนินการจดแจ้งเข้าระบบบัญชีเดียว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบบัญชีเดียว อาจมีสาเหตุมาจากการขาดความรู้ทางด้านบัญชีและการเงิน หากไม่เร่งปรับตัว อาจส่งผลกระทบต่อ SMEs เอง เมื่อมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ดังนั้น การจัดทำบัญชีเดียว จึงนับว่าเป็นแนวทางที่มีประโยชน์ เพราะการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและตรงกับข้อเท็จจริงของธุรกิจ จะทำให้สร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมการเงินให้กับกิจการ ส่งผลให้การทำธุรกรรมและการบริหารเงินของผู้ประกอบการเป็นไปอย่างรวดเร็ว คล่องตัว เกิดประสิทธิภาพ และทำให้เกิดความเสี่ยงน้อยลง รวมทั้งภาครัฐสามารถให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการได้ตรงจุดและตรงต่อความต้องการของผู้ประกอบการ เพราะมองเห็นภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงและชัดเจน อันส่งผลสำเร็จต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในภาพรวม และจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้ามาในระบบบัญชีเดียวมากขึ้นในที่สุด ซึ่งทาง กสอ. ได้ดำเนินตามแนวนโยบายในการสนับสนุนและช่วยเหลือทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไปแล้วในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยในการพัฒนาศักยภาพเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางธุรกิจให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ จึงได้จัดทำโครงการเสริมแกร่ง SMEs รอบรู้การเงิน ซึ่งเป็นการพัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงิน เพื่อให้องค์ความรู้ทางด้านการเงินและการจัดทำบัญชีเดียวสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของกิจการ ซึ่งจะช่วยสะท้อนสภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มศักยภาพทางด้านการผลิตและการค้า รวมถึงการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ Pre-Finance เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่แหล่งทุน และ Post-Finance เพื่อปรับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีเดียว รวมทั้งการปรับระบบบัญชีให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 และตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของกองทุนที่ช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถรับความช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อกู้เงินไปพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไป" นายเดชา กล่าว
สำหรับกิจกรรมเปิดตัวโครงการเสริมแกร่ง SMEs รอบรู้เรื่องการเงินในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือระหว่าง กสอ. กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน ส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการ SMEs มีความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงิน และการจัดทำบัญชีเดียวให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของกิจการ ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมการเงินให้กับกิจการ ส่งผลให้การทำธุรกรรมและการบริหารเงินของผู้ประกอบการเป็นไปอย่างรวดเร็ว คล่องตัว ทำให้เกิดความเสี่ยงน้อยลง ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ "รู้แล้วดี SMEs บัญชีเดียว" โดย ตัวแทนจาก ผู้ประกอบการ ธนาคาร และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จจากการทำบัญชีเดียว และการสร้าง Global Opportunity ด้วย e-Commerce และการซื้อขายผ่าน Social Platform ที่ไทยถูกมองว่าเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนจริงหรือ การตื่นตัวของตลาด e-Commerce ไทย และ Trend ตลาด Cross border e-Commerce โดยผู้เชี่ยวชาญ จาก Alibaba การจัดกิจกรรมในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวความสำเร็จในการเตรียมความพร้อมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่แหล่งทุนและปรับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีเดียวไปพัฒนาธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศต่อไป
ทั้งนี้ กิจกรรมการเปิดตัวโครงการเสริมแกร่ง SMEs รอบรู้การเงิน จัดขึ้นทั้งหมด จำนวน 4 ครั้ง ใน 4 ภาค และสัญจรไปให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สงขลา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น และเชียงใหม่ โดยคาดว่ากลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ 3,500 คน
No comments:
Post a Comment