พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงาน Digital Thailand Big Bang 2018 ว่า โลกเรามีสองใบเสมอ มีความเหลื่อมล้ำของคนพื้นที่ชนบทห่างไกลกับสังคมเมือง ดิจิทัลเท่านั้นจะที่จะลดความเหลื่อมล้ำลง โดยให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีโอกาส มีช่องทางในการทำธุรกิจ อย่างเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยคือ การเชื่อมดิจิทัลกับประเทศอื่นๆ ด้วย วันนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 39 จาก 63 ประเทศ จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ซึ่งแม้ว่าอันดับเราจะดีขึ้นจากปีที่แล้ว แต่เราต้องเติบโตไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเราต้องทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจะยังมีความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลกันอยู่ เราต้องช่วยเหลือกัน ต้องทำการค้าแบบพหุภาคี
นายกรัฐมนตรี ยังแสดงความเป็นห่วง ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในโลกไซเบอร์ที่ใช้ดิจิทัลไปใช้ในทางที่ผิดโดยอ้างสิทธิมนุษยชน ว่า ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายกับสิทธิมนุษยชนต้องเดินไปบนเส้นทางเดียวกัน เราต้องดูว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ละเมิดสิทธิกัน ทุกคนจะต้องเรียนรู้ร่วมกันว่าผิดคือผิด จะมาอ้างความไม่รู้หรืออ้างสิทธิมนุษยชนไม่ได้ ต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่เช่นนั้นโลกก็จะหาความสงบไม่ได้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้จับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้หลายราย และในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นแชร์แมนด้านดิจิทัลของอาเซียนในปีหน้า เราต้องใช้โอกาสนี้ขับเคลื่อนในการพัฒนาดิจิทัลในภูมิภาคนี้เพื่อให้เติบโตและเข้าแข็งไปด้วยกัน เราจะไม่เติบโตไปอย่างเดียวดาย เราต้องช่วยคนอื่นด้วย เพราะทุกคนอยู่ในโลกใบเดียวกัน เราอยู่ในอันดับที่ดี เราต้องดูความพร้อมของเพื่อนบ้านว่าเชื่อมโยงกันได้ไหน ต้องช่วยกัน
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ดิจทัลมีประโยชน์มากมายก็จริง แต่ต้องอย่างมีสติด้วย ดิจิทัลถูกพัฒนามาจากการใช้มันสมองของมนุษย์ เพื่อจัดระเบียบ เพิ่มความสะดวกรวดเร็วขึ้น เราควรใช้ดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน อย่าให้มายึดครองโลกส่วนตัวเราไปทั้งหมด ต้องมีหลักคิดในการดำเนินชีวิต เพราะนอกเหนือจากการพัฒนาเมืองใหม่ การค้า การลงทุน การคมนาคม ฯลฯ แล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินควบคู่กันไปคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องสร้างคนให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงแบบรู้เท่าทัน
“ผมอยากให้ทุกคนจับสาระให้ได้ ว่าสิ่งที่รัฐบาลทำทุกวันนี้คือ ต้องการให้ประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกเป็นอย่างไร เพราะทุกคนคือเพื่อนกัน เราทุกคนอยู่ในโลกใบเดียวกัน ไม่ใช่คู่แข่งขัน ทุกคนคือมนุษยชาติ ที่ใช้อากาศเดียวกัน มีน้ำเชื่อมต่อกันด้วยทะเล มีดินเชื่อมต่อด้วยแผ่นดิน ทั้งหมดคือโลกใบเดียวกัน ใครจะหวังเก่งคนเดียว จะเจริญคนเดียว มันจะก็จะเกิดความขัดแย้ง ดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทลดความเหลื่อมล้ำได้ หากทุกคนซื่อสัตย์ จริงใจต่อกัน ปฏิบัติต่อกันเป็นเหมือนมนุษยชาติ เป็นโลก เป็นครอบครัว เดียวกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ในปี 2561 ทางกระทรวงฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ดำเนินการจัดงาน Digital Thailand Big Bang 2018 ขึ้น 2 ส่วน คือ 1) ในส่วนภูมิภาค การจัดงาน Digital Thailand Big Bang Regional 4 ภูมิภาค ภายใต้แนวคิด Digital Transformation Thailand: โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน จัดใน 4 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ ระยอง และสงขลา โดยทั้ง 4 เมืองนี้เป็นเมืองที่ได้รับการคัดเลือกว่าที่มีศักยภาพและเป็นเมืองนำร่องของ Smart City ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนที่สำคัญ ซึ่งงานในส่วนภูมิภาคประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย มีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 61,000 คน ประกอบด้วยกลุ่มผู้ประกอบการ นักพัฒนาดิจิทัลซอฟต์แวร์ โปรแกรมเมอร์ นักเรียน นักศึกษา ครูและผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป และ 2) ในส่วนกลาง การจัดงาน Digital Thailand Big Bang 2018 ระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับงานนี้มาก โดยเน้นให้มีความยิ่งใหญ่อลังการกว่าปีที่แล้ว โดยการเพิ่มพื้นที่การจัดงานให้ใหญ่ขึ้นเป็น 60,000 ตารางเมตร เต็มพื้นที่ชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพค เพื่อสามารถรองรับการแสดงเทคโนโลยีชั้นนำ และเพิ่มวันจัดงาน เป็น 5 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาเรียนรู้และสนุกกับดิจิทัล มาเรียนรู้โลกแห่งดิจิทัลที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน
ดร.พิเชฐ กล่าวย้ำถึงความยิ่งใหญ่ของงานในครั้งนี้ว่า Digital Thailand Big Bang 2018 เป็นมหกรรมดิจิทัลระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศ กว่า 500 หน่วยงาน และความร่วมมือระดับนานาชาติจาก 12 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย โปแลนด์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม เนปาล อินเดียและอิสราเอล มาเพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล การก้าวให้ทันเทคโนโลยีและนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และในงานนี้จะพบมิติการเปลี่ยนแปลงของประเทศใน 8 ด้านหลัก ได้แก่ 1) ด้านนวัตกรรม Cloud computing ที่เชื่อมโยงโลกทั้งใบอย่างไร้ขีดจำกัด 2) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางข้อมูลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาคที่เชื่อมโยงไปทั่วโลกผ่านดิจิทัลเทคโนโลยี อาทิ ระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำ และดวงดาวอัจฉริยะหรือดาวเทียม เป็นต้น 3) ด้านการเปลี่ยนแปลงข้อมูลขนาดใหญ่ ที่นำไปใช้ประโยชน์และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ 4) ด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต ทั้งเทคโนโลยีใหม่ เทคโนโลยีก่อกำเนิด และนวัตกรรมดิจิทัลจากเหล่า digital innovators กว่า 800 ราย 5) ด้านบล็อคเชน ที่ไม่ใช่ดิจิทัลเฉพาะโลกการเงินแต่คือดิจิทัลสำหรับทุกคน 6) ด้านการศึกษาระบบใหม่ ให้คนไทยก้าวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ทักษะ coding เบื้องต้นจนถึงระดับ advance อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง 7) ด้านเมืองอัจฉริยะ ที่จะก้าวล้ำสู่อีกขั้น กับการเตรียมพร้อมรองรับเป็นเจ้าภาพระดับอาเซียน ปี 2019 และ 8) ด้านกิจกรรมการแข่งขันระดับเยาวชน ที่มีเด็กๆ ตบเท้าเข้าร่วมกว่า 5,000 คน เพื่อแสดงความสามารถทางด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ในการแข่งขันหุ่นยนต์ การแข่งขันบินโดรน การแข่งขัน Coding sport เป็นต้น
ดร. พิเชฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า “การจัดงานในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม และยังเป็นเวทีที่ประเทศไทยจะได้ประกาศศักยภาพในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนด้วย” พร้อมเชิญชวนทุกคน มาร่วมชมงาน Digital Thailand Big Bang 2018 ที่เปิดเข้าชมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ 19-23 กันยายน ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี (เปิดให้เข้าชม วันที่ 19 ก.ย. เริ่มเวลา 12.00-19.00 น., วันที่ 20-21 ก.ย. เวลา 09.00-19.00 น. และ วันที่ 22-23 ก.ย. เวลา 10.00-19.00 น.)
สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมและความเคลื่อนไหวการจัดงาน “Digital Thailand Big Bang 2018” ได้ที่ www.digitalthailandbigbang.com และ facebook.com/digitalthailandbigbang/
No comments:
Post a Comment