นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ให้เป็นมืออาชีพ เพื่อรองรับกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจ ทั้งในประเทศไทยและกิจการในต่างประเทศที่ ซีพีเอฟ เข้าไปลงทุน ดังนั้น “การสร้างคน” จึงเป็นเรื่องที่ซีพีเอฟให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับนักศึกษาจากคณะอุตสาหกรรมเกษตรเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะกลับไปทำงานในประเทศของตน ซึ่งจะนำองค์ความรู้และประสบการณ์กลับไปพัฒนาภาคเกษตรกรรมและอาหารในประเทศของตนเองได้ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่วนบัณฑิตชาวไทย ก็สามารถปฏิบัติงานในประเทศไทยหรือไปปฏิบัติงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้
“การพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญแบบมืออาชีพ เป็นนโยบายสำคัญที่ ซีพีเอฟ ดำเนินการภายใต้ปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน คือ เป็นประโยชน์ต่อประเทศที่ ซีพีเอฟ เข้าไปลงทุน เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทุกประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ ในลำดับสุดท้าย ซึ่งเป็นค่านิยมที่ ซีพีเอฟ ใช้ในการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน” นายประสิทธิ์ กล่าว
ดร.ถิรนันท์ ศรีกัญชัย คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กล่าวว่า รูปแบบการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้ควบคู่การทำงานจริง หรือ Work-based Education ที่มีการเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียน 3 เดือน สลับกับฝึกงานในสถานประกอบการจริงอีก 3 เดือน สลับกันไปมาเช่นนี้ตลอดหลักสูตรปริญญาตรี ซึ่งนักศึกษาจะสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 3 ปี 6 เดือน แบ่งเป็นการเรียนภาคทฤษฎีรวม 43% และภาคปฏิบัติในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ทันสมัยมาตรฐานโลก หรือในโรงงานแปรรูปอาหารมาตรฐานโลกอีก 57% โดยในชั้นปีที่ 4 นักศึกษาจะได้ฝึกปฏิบัติงานในภาคธุรกิจจริงอย่างต่อเนื่องถึง 6 เดือน ซึ่งนักศึกษาต่างชาติก็จะได้กลับไปฝึกงาน ณ ประเทศที่ตนเองได้รับทุนการศึกษา ทำให้บัณฑิตที่จบจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร PIM พร้อมที่จะปฏิบัติงานในฟาร์มและโรงงานแปรรูปอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพทันทีที่เรียนจบ
“คณะอุตสาหกรรมเกษตร ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้บริหารมืออาชีพจาก ซีพีเอฟ ร่วมออกแบบหลักสูตร และมาเป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอนในรายวิชาต่างๆ มากกว่า 100 ท่าน โดยการนำประสบการณ์ทำงานจริงมาสอนให้นักศึกษาได้มีพื้นฐานความรู้แบบมืออาชีพ และที่โดดเด่นที่สุดคือ การที่นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าฝึกปฏิบัติงานจริง ในฟาร์มและโรงงานแปรรูปอาหารระดับโลกของซีพีเอฟ ได้เรียนรู้ สัมผัสบรรยากาศ สภาพแวดล้อมจากการทำงานจริงและได้แก้ปัญหาจริง ซึ่งในปีนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่บัณฑิตรุ่นแรกของสาขาการจัดการเทคโนโลยีฟาร์ม จำนวน 42 คน ได้เข้าทำงานกับ ซีพีเอฟ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การเรียนร่วมกันระหว่างนักศึกษาต่างชาติและนักศึกษาไทย ยังช่วยให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เป็น buddy ช่วยแปลภาษาและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ จนเกิดเป็นมิตรภาพ มีความกล้าแสดงออกและสื่อสารกันได้อย่างดี" ดร.ถิรนันท์ กล่าว
ในปี 2562 นี้ นับเป็นปีที่ 5 ที่ซีพีเอฟ มอบทุนให้กับนักศึกษาไทย และเป็นปีที่ 2 ที่มอบทุนให้กับนักศึกษาต่างประเทศ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาจาก 17 ประเทศที่ ซีพีเอฟ เข้าไปลงทุน ได้รับคัดเลือกเพื่อรับทุนการศึกษาและเข้ามาศึกษาในประเทศไทย โดยในปีนี้ มีผู้ผ่านการคัดเลือก 15 คน จาก 7 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ กัมพูชา เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และตุรกี ซึ่งนักศึกษาต่างประเทศเหล่านี้ จะเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีร่วมกับนักศึกษาไทยที่ผ่านการคัดเลือกอีก 29 คน ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Science Degree) สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีฟาร์ม (Farm Technology Management: FTM) และสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร (Food Processing Technology Management : PTM)./
No comments:
Post a Comment