ไทยผนึกญี่ปุ่นเปิดฉาก MRA 2019 ดึงบิ๊กอุตฯ บิ๊กก่อสร้างโชว์ 200 เทคโนโลยีสุดล้ำ หวังกระตุ้นผลิตภาพไทยสู่ยุคไอโอที - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Saturday, October 5, 2019

ไทยผนึกญี่ปุ่นเปิดฉาก MRA 2019 ดึงบิ๊กอุตฯ บิ๊กก่อสร้างโชว์ 200 เทคโนโลยีสุดล้ำ หวังกระตุ้นผลิตภาพไทยสู่ยุคไอโอที



กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงคมนาคม สมาคมการบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เอ็กซโปซิส จำกัด จัดงาน Maintenance & Resilience 2019 หรือ MRA 2019 นิทรรศการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านกระบวนการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานภายใต้แนวคิด Smart Manufacturing & Smart Infrastructure โดยตั้งเป้ายกระดับภาคอุตสาหกรรม และภาคโครงสร้างพื้นฐานไทยให้มีการปรับตัวไปสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เช่น IoT หุ่นยนต์ บิ๊กดาต้า เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าการจัดงานดังกล่าวยังจะเป็นตัวกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเครื่องจักรและชิ้นส่วนมีการเติบโตและพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในด้านการยืดอายุการใช้งาน การลดขั้นตอนการสูญเสีย การเชื่อมต่อกับระบบ IoT เป็นต้น

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่ภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงต้องเผชิญคือเรื่องของการบริหารความต่อเนื่อง การจัดการความเสี่ยง และการยกระดับระบบการซ่อมแซมและการบำรุงรักษา ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของสถานประกอบการและระบบการผลิต พร้อมยกให้เป็นหัวข้อสำคัญสำหรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในปีถัดไป ที่จะต้องเร่งให้มีการปรับตัวและทำความเข้าใจ เพื่อป้องกันและลดวิกฤติต่างๆ โดยเฉพาะในด้านความสูญเสียและลดต้นทุนของแต่ละองค์กรให้ได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ากระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบันยังคงมีความสูญเสียต่างด้านต่าง ๆ อยูในระดับที่สูง เป็นเหตุให้ประสิทธิภาพของกระบวนการดังกล่าวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งพบว่ามีทั้งใช้เวลานานและหลากหลายขั้นตอนในการผลิต ความสูญเสียเนื่องจากการผลิตที่มากเกินไป (Overproduction) ใช้ต้นทุนในการผลิตและสูญเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาด้วยมูลค่าที่สูง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นจะต้องมีแนวคิดหรือแนวทางเพื่อลดการเสียโอกาสเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อทำให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคที่เกี่ยวข้องก้าวสู่ยุค 4.0 และสอดคล้องกับทิศทางของอุตสาหกรรมโลกอย่างเต็มรูปแบบ

นายภานุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญของการบริหารความต่อเนื่อง การจัดการความเสี่ยง และการยกระดับระบบการซ่อมแซมและการบำรุงรักษา กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จับมือร่วมกับ กระทรวงคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมการบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น และบริษัท เอ็กซโปซิส จำกัด จัดงาน Maintenance & Resilience 2019 หรือ MRA 2019 ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านกระบวนการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานที่ได้การยอมรับ และถูกจัดมาอย่างต่อเนื่องในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วเกือบ 60 ปี โดยเชื่อว่าการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นตัวกลางที่ทำให้สถานประกอบการในประเทศไทยมีการปรับตัวได้ดีเช่นเดียวกับสถานประกอบการในประเทศญี่ปุ่นที่มีศักยภาพทั้งการบำรุงรักษาระบบเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพดีและพร้อมใช้งานในเวลาที่ยาวนาน การนำระบบอัตโนมัติ เช่น เซ็นเซอร์ IoT หุ่นยนต์ บิ๊กดาต้า มาใช้ในการผลิตและการดำเนินงาน การมีระบบประเมิน และคาดการณ์เพื่อการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนการฟื้นฟูสถานประกอบการในกรณีเกิดพิบัติภัยให้สามารถกลับมาดำเนินการได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว

ทั้งนี้ เชื่อว่าการจัดงาน MRA 2019 ยังจะเป็นตัวกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเครื่องจักรและชิ้นส่วนมีการเติบโตและพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิต และมีบทบาทสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ โดยเชื่อว่าทั้งผู้ผลิตและผู้พัฒนาจะเห็นตัวอย่างความล้ำสมัย และนำไปปรับใช้ทั้งระบบเครื่องจักรหรือการสั่งงานที่มีความเที่ยงตรงแม่นยำสอดรับกับการเข้ามาของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เครื่องจักรที่สามารถลดขั้นตอนในการผลิตและลดความเสียหาย การลดใช้พลังงานและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับระบบ IoT สามารถทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องจักรกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ความผิดปกติภายในโรงงาน เป็นต้น

ด้านนายวิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีโครงการพัฒนาระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก ทั้งการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและระดับหัวเมือง การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ การจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงการก่อสร้างทางหลวง อุโมงค์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งภาครัฐและเอกชนที่กำลังพัฒนาเรื่องดังกล่าวจำเป็นจะต้องมีแผนการบริหารจัดการ การบำรุงรักษา และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดีและสมบูรณ์แบบ สามารถรองรับกับความเสี่ยงและพิบัติภัยประเภทต่างๆให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ภาคโครงสร้างพื้นฐาน และคมนาคมไทยควรศึกษาและมองต้นแบบความสำเร็จจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในเรื่องความสมบูรณ์แบบของระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค โดยงาน MRA 2019 จะช่วยให้รู้ว่าญี่ปุ่นมีวิธีการจัดการอย่างไรกับระบบขนส่ง ถนน อุโมงค์ สะพาน รถไฟ ฯลฯ ที่มีการใช้งานมากว่า 50 ปี แต่ยังมีความคงทน ฟื้นฟูได้รวดเร็ว และสามารถรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ญี่ปุ่นต้องประสบมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการให้ความรู้จากหน่วยงานที่หลากหลาย ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ดีที่จะได้ศึกษาและเรียนรู้เทคนิคที่ดีจากประเทศชั้นนำของโลก

ขณะที่ นายมาซามิ นากามูระ ประธานบริษัท Japan Management Association กล่าวว่า สำหรับนิทรรศการ Maintenance & Resilience 2019 หรือ MRA 2019 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Smart Manufacturing & Smart Infrastructure กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 2562 ณ ไบเทค บางนา โดยตลอด 3 วันของการจัดงานผู้ประกอบการ และประชาชนที่เข้าร่วมงานจะได้พบกับการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม และภาคโครงสร้างพื้นฐานกว่า 200 ชิ้นงาน เช่น หุ่นยนต์เพื่อการผลิตในโรงงาน ระบบ IoT ที่ใช้ในสถานประกอบการ ระบบเตือนภัย และปัญญาประดิษฐ์หลากหลายรูปแบบ โดยยังมีการให้ความรู้จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่จะมาร่วมส่งมอบประสบการณ์และเทคนิคที่สำคัญ อาทิ ยุทธศาสตร์การผลิตอัจฉริยะของภาครัฐ การยกระดับการจัดการโรงงานเพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยความปลอดภัยในอุตสาหกรรมอัจฉริยะผ่านความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น บทบาท ของมหาวิทยาลัยในการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่เพื่อรองรับนโยบายประเทศไทย 4.0 การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย รวมถึงกรณีศึกษาจากเมืองเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาธุรกิจ โดยคาดว่าตลอด 3 วัน ของการจัดกิจกรรมจะมีผู้เข้าร่วมทั้งจากภาครัฐและเอกชน ไม่ต่ำกว่า 6,000 ราย

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท เอ็กซโปซิส จำกัด โทรศัพท์ 02 – 5590856 อีเมล์ Info@exposis.co.th

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages