ฉีดวัคซีนป้องกันดราม่าให้หมอรุ่นใหม่ - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, October 30, 2019

ฉีดวัคซีนป้องกันดราม่าให้หมอรุ่นใหม่

ในช่วงปีที่ผ่านมาวงการแพทย์มีกรณีฟ้องร้องระหว่างแพทย์กับคนไข้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และทุกครั้งที่เกิดปัญหาระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับคนไข้ ก็จะเกิดวงกระเพื่อมในโลกโซเชียลอย่างรวดเร็ว

แม้ข้อมูลจาก แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะบ่งชี้ว่าปัจจุบันนี้มีแพทย์ประมาณ 60,000 คนในประเทศไทย เกิดกรณีฟ้องร้องเพียง 2% แต่ข่าวที่ออกไปตามสื่อต่างๆ กลับทำให้เกิด “วิกฤติศรัทธาต่อวงการแพทย์” รวมถึงเกิดการตั้งคำถามว่า “จริยธรรมทางการแพทย์” นั้น ยังมีจริงอยู่หรือไม่ และปลูกฝังกันอย่างไร

สาเหตุหลักๆ ที่มักทำให้แพทย์ถูกทวงถามหาจริยธรรม* เช่น “ความไม่เท่าเทียม” บางครั้งที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าทำไมจึงเกิดสองมาตรฐาน หรือ...ฉันมาก่อน เธอมาทีหลัง.. ทำไมได้รับการรักษาก่อน รู้จักกับหมอหรืออย่างไร? คำถามเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในใจคนไข้ที่รอคอยการรักษา “รอนานเกินไป” ด้วยปริมาณของผู้ป่วยเป็นจำนวนมากทำให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการ “ความไม่เข้าใจระหว่างกัน” ที่ในแต่ละวันโรงพยาบาลรับผู้ป่วยเข้ารักษาเป็นจำนวนมาก ทำให้แพทย์มีเวลาพูดคุยกับผู้ป่วยไม่มากนัก กลายเป็นการสื่อสารที่ไม่ครบถ้วน อาจสร้างความเข้าใจผิดได้ “อารมณ์” โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเป็นแพทย์ใหม่ๆ ระดับของการควบคุมอารมณ์อาจจะยังไม่สมบูรณ์ ยังขาดประสบการณ์ในการเผชิญสถานการณ์เฉพาะหน้า หรือยังไม่มีเทคนิคในการรับมือกับผู้ป่วยมากนัก แพทย์อาจจะไม่มีสมาธิเพียงพอในช่วงเวลานั้น รวมถึง “การวินิจฉัยที่ผิดพลาด” ที่สามารถเกิดขึ้นได้


ดังนั้น ก่อนจะทวงถามหาความยุติธรรมผ่านโลกโซเชียล ลองมารู้จักกับจริยธรรมเบื้องต้นของหมอ ก่อนจะก่อดราม่าโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

1. ต้องรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนเสมอ แม้ว่าจะมีผู้ป่วยหลายคนที่มารอก่อนหน้า แต่ลำดับขั้นในการรักษา แพทย์จะต้องรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนเสมอ

2. ต้องรักษาความลับของผู้ป่วย ไม่พูดคุยเรื่องผู้ป่วยในที่สาธารณะ ไม่ถ่ายรูปหรือแฟ้มประวัติผู้ป่วย ไม่ให้เอกสารประวัติที่มีความลับผู้ป่วยแก่ผู้อื่น อาทิ ญาติ หรือบริษัทประกัน ยกเว้นกรณีจำเป็น

3. ต้องบอกผลตรวจตามความจริงกับคนไข้ ตั้งแต่อาการของโรค ผลตรวจ ทางเลือกในการรักษา และคำแนะนำ และก่อนที่จะทำหัตถการใดๆ หรือจะผ่าตัดผู้ป่วย ต้องแจ้งข้อมูลทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผลดี ผลแทรกซ้อน ความเสี่ยง ทางเลือกการรักษาอื่นๆ ให้ผู้ป่วยรับทราบก่อนเสมอ

4. ต้องรักษาตามแผนปัจจุบันเป็นหลักตามมาตรฐานทางการแพทย์ ส่วนแพทย์ทางเลือกไว้เสริมการรักษา แต่ไม่ขัดกับแผนปัจจุบัน

5. การทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฎหมายต้องทำโดยแพทย์ และเกิดจากการวินิจฉัยว่าการตั้งครรภ์นั้นมีอันตรายต่อคนไข้ หรือเกิดจากการทำความผิดทางอาญา เช่น ถูกข่มขืน เป็นต้น

6. เมื่อทำผิดต้องยอมรับผิด ต้องแจ้งผู้ป่วยโดยตรงถึงความผิดพลาดและรับผิดชอบผลที่จะตามมา

7. แพทย์สามารถออกใบรับรองแพทย์ได้ตามความเป็นจริงได้เท่านั้น อย่างมาตรวจจริงวันนี้ ก็ลงความเห็นได้ว่ามาตรวจจริงวันนี้ หรือ ตรวจแล้วพบว่าอาการไม่หนักมาก วินิจฉัยว่าควรหยุดพัก 1 วัน ก็ลงความเห็นตามนั้น ห้ามลงความเห็นที่ไม่จริง หรือตามที่ผู้ป่วยร้องขอแต่ไม่เป็นความจริง

8. ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย จะต้องไม่เป็นเชิงชู้สาว


เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของจริยธรรมที่แพทย์ส่วนใหญ่ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ และยังมีอีกมากมายที่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้ายต้องได้รับการอบรมอย่างเข้มข้น ผ่าน “โครงการอบรมจริยธรรมทางการแพทย์” ซึ่งแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดอบรมให้กับนักเรียนแพทย์และแพทย์ประจำบ้านทุกคน ก่อนจะออกไปปฏิบัติงานจริง โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย (Pfizer Thailand Foundation)


วันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 98 ปี แห่งการก่อตั้งแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ นับเป็นเวลายาวนานสำหรับบทบาทการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ และจะยังคงดำเนินบทบาทนี้อย่างต่อเนื่องในการปลูกฝังจริยธรรม พร้อมๆ กับการฉีดวัคซีนป้องกันดราม่าให้กับหมอรุ่นใหม่ ให้วิชาชีพแพทย์ยังคงได้รับการยอมรับที่ดีจากสังคมต่อไป

*อ้างอิงข้อมูลจาก :

- แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

- จริยธรรมทางการแพทย์ในยุคปัจจุบัน โดย นิธิพัฒน์ เจียรกุล รองเลขานุการคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย


บรรยายภาพ 

01-02 ตัวอย่างข่าวที่เกิดขึ้นกับวงการแพทย์


03-06 ภาพประกอบการรักษาของแพทย์ จาก https://unsplash.com และ https://


07 บรรยากาศการอบรมแพทย์ประจำบ้านของ “โครงการอบรมจริยธรรมทางการแพทย์”

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages