ธนาคารกรุงไทย ชี้การเข้าถึงข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ เกือบ 9 หมื่นแห่ง ที่ทำได้ง่ายและสะดวก เป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของผู้ประกอบการทั่วประเทศ เผยงบประมาณในปีที่ผ่านมา มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือe-bidding แนะผู้ประกอบการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในพื้นที่ที่สนใจอย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาวางแผนกลยุทธ์ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากการทำบทวิจัยเรื่อง “ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกับโอกาสทางธุรกิจ” พบว่า การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ เกือบ 90,000หน่วยงาน ได้อย่างง่ายดายและสะดวกสบายนั้น นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยหน่วยงานภาครัฐ จัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือe-Government Procurement ผ่านเว็บไซต์www.gprocurement.go.th ซึ่งในปีงบประมาณ2561 ที่ผ่านมา มีงบในการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท จำนวนกว่า 5 ล้านโครงการ
“งบประมาณดังกล่าว เป็นการจัดซื้อจัดจ้างผ่านการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding มูลค่ารวมกว่า 5 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นประเภทซื้อและจ้างก่อสร้าง และเป็นโครงการที่มีขนาดไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับผู้ประกอบการ SMEอย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลความต้องการของหน่วยงานรัฐได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน ทำให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมทางธุรกิจให้มากกว่าคู่เทียบ”
ดร.กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strategy กล่าวเสริมว่า ผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์การแข่งขันในพื้นที่ต่างๆ โดยพิจารณาจากข้อมูลผลการจัดซื้อจัดจ้างในอดีตที่ประกาศในเว็บไซต์www.gprocurement.go.th ด้วยการเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น จำนวนผู้ขอรับเอกสารการประกวดราคา จำนวนผู้ยื่นเอกสาร ราคากลาง ราคาที่ชนะการประมูล วิเคราะห์จำนวนโครงการและส่วนต่างราคา ย้อนหลังไป 1 ปี เพื่อพิจารณาพื้นที่ที่สนใจ รวมทั้งเปรียบทียบข้อมูลกับพื้นที่อื่น
“การดูข้อมูลต่างๆและทำการเปรียบเทียบ ทำให้ทราบว่าพื้นที่ใดน่าจะมีงานเข้าประมูลเพิ่มขึ้นบ้าง โดยดูได้จากการเติบโตของงบประมาณและจำนวนโครงการ ส่วนความรุนแรงของการแข่งขัน สามารถพิจารณาจากส่วนต่างของราคา ระหว่างราคากลางที่ตั้งไว้ กับราคาที่ชนะการประกวดราคา หากส่วนต่างราคายิ่งมาก เท่ากับการแข่งขันยิ่งสูง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ในการคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของปริมาณงานหรือเม็ดเงิน ที่สำคัญสามารถนำมาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันประกวดราคางานภาครัฐในครั้งต่อๆไป”
No comments:
Post a Comment