โครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 13 “Leadership for Change - LFC#13 : BCG Model in Action” โดยมูลนิธิสัมมาชีพ นำเสนอกรณีศึกษาของสององค์กรใหญ่ระดับประเทศ ปตท.-ออมสิน ว่าด้วย การเป็น “ผู้นำ” นำสังคมสู่ความเปลี่ยนแปลง เพิ่มโอกาสชุมชน สนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ ควบคู่การขับเคลื่อนธุรกิจระดับประเทศ นำสังคมสู่ความยั่งยืน
ภารกิจร่วมขับเคลื่อนสังคม อยู่ใน DNA คน ปตท.
คุณกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ถ่ายทอดวิสัยทัศน์และปฏิบัติการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของ ปตท. ภายใต้หัวข้อ “ถอดบทเรียน ปตท.ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” ว่า ปตท.เป็นองค์กรที่ก่อตั้งด้วยวัตถุประสงค์การจัดสรรหาพลังงานน้ำมันให้กับคนไทยและประเทศไทย เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ แต่ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา ปตท. ได้ดำเนินการทั้งด้านสังคมและชุมชน รวมถึงสนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
เรียกว่า ปตท.ไม่ได้มุ่งเพียงการทำกำไรหรือเพื่อธุรกิจอย่างเดียว แต่ยังเห็นความสำคัญของการดูแลสังคมและดูแลชุมชนรอบด้าน
“จากการดำเนินธุรกิจตั้งแต่วันแรก ปตท.ไม่ได้มีภารกิจเฉพาะเรื่องของพลังงาน แต่ยังรวมถึงการดูแลสังคม ชุมชน ให้เติบโตไปด้วยกัน เป็นเรื่องที่ถูกฝังเข้ามาในดีเอ็นเอของคน ปตท. ตั้งแต่เริ่มต้น”
ตลอด 45 ปี ปตท.ขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคมทั้งขนาดใหญ่และระดับชุมชนต่อเนื่อง เริ่มจากการจัดสรรที่ดินเพื่อทำโครงการศูนย์สมุนไพรเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและแหล่งเรียนรู้ที่ ปตท.จังหวัดระยอง ก่อนจะขยายสู่โครงการอื่น ๆ ลำดับต่อมา
“ในช่วงที่ประเทศกำลังประสบปัญหาเรื่องทรัพยากรป่าไม้ แม้เป็นช่วงเวลาที่ ปตท.เองผลประกอบการไม่ได้ดีนัก เราได้ร่วมจัดทำโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 5 ล้านไร่ และยังดำเนินโครงการปลูกป่าต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในปีนี้ ปี 2566 ปตท.ได้ทำโครงการปลูกป่าเพิ่มอีก 1 ล้านไร่”
คุณกนกพรกล่าวว่า เดิม ปตท.ไม่มีความรู้เรื่องการปลูกป่า แต่ด้วยความมุ่งมั่นศึกษากระบวนการและนำศาสตร์พระราชามาใช้ ทำให้เจ็ดปีต่อมาสามารถถวายผืนป่า 1 ล้านไร่ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 50 ปีได้
ช่วงปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อสำคัญของธุรกิจพลังงาน เพราะพลังงานฟอสซิลใกล้จะหมดไป ปตท. ต้องสรรหาพลังงานทดแทน เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านพลังงาน แต่ปตท. ก็ร่วมสนับสนุนสังคมไทยในช่วงวิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาด โดยทุ่มเงิน 200 ล้านบาท ทำโรงพยาบาลสนามครบวงจร รวมถึงจัดตั้งโครงการลมหายใจเดียวกัน
ไม่เฉพาะด้านสาธารณสุข ในเรื่องเศรษฐกิจชุมชนที่ต้องสะดุดในช่วงเวลานั้น และต้องได้รับการฟื้นฟูเมื่อทุกอย่างหยุดชะงักไปเพราะโควิด-19 โดยเฉพาะในชุมชนการเกษตรกรรม นักศึกษาจบใหม่ที่ว่างงาน ปตท.จึงริเริ่มโครงการรีสตาร์ทไทยแลนด์ รับนักศึกษาจบใหม่มาร่วมทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ ตลอดสามปี ปตท.เปิดรับบุคลากรมาร่วมโครงการกว่า 48,000 อัตรา
ค้นหาทุน ต่อยอดเติมความยั่งยืนในชุมชน
คุณกนกพรเผยต่อว่า ในด้านการสรรหาชุมชน ปตท.เน้นค้นหาพื้นที่ที่มีศักยภาพในแต่ละด้าน โดยร่วมกำหนด กลยุทธ์ แนวทางนโยบาย นวัตกรรมร่วมกันเพื่อต่อยอดยกระดับชุมชน
“เมื่อเราค้นหาวิเคราะห์พื้นที่ชุมชน ที่ไหนมีทุนความยั่งยืนด้านใด ปตท. จะเข้าไปเสริม อย่างวิสาหกิจชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ที่เราพบว่า เขามีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว คือการทำไม้ดอก ไม้ประดับ มะสังดัด สามารถส่งออกขายต่างประเทศ ปตท. ก็เข้าไปเติมเต็มด้านนวัตกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่เรามีความถนัด ก็สามารถยกระดับเศรษฐกิจชุมชน สร้างรายได้” คุณกนกพรกล่าว
โดยในการสนับสนุน ไม่เพียงจะส่งเสริมด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ปตท. ยังส่งเสริมด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างช่องทางการตลาดควบคู่ไปด้วย
การนำนวัตกรรมช่วยเสริมชุมชนและสังคมของปตท. มีการจัดตั้งเป็นสถาบันนวัตกรรม วิจัยและพัฒนาโซเชียลอินโนเวชัน (Social Innovation) ซึ่งคุณกนกพรย้ำว่า “ต้องเป็นโซเชียลอินโนเวชันที่ทำให้ชุมชนยิ้มได้ ประเทศและสังคมยิ้มได้”
ปัจจุบัน ปตท.ได้ขยายด้านธุรกิจเทคโนโลยีโดยจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อรองรับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัท รวมถึงบริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด หรือที่รู้จักกันในนาม “วรุณา” บริษัทด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์สำหรับการเกษตรอัจฉริยะและการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน
“สิ่งที่ปตท.อยากเห็นคือ รอยยิ้มชุมชน เราเชื่อว่าองค์กรและสังคมนี้จะแข็งแรงเติบโตยั่งยืนได้ เราต้องเติบโตไปด้วยกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
“ออมสิน” ธนาคารเพื่อสังคม สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนฐานราก
คุณวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในปาฐกถา "ออมสินเพื่อสังคม" ก้าวที่ท้าทาย ปรับสู่ฐานราก มุ่งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ยั่งยืน ว่า ธนาคารออมสินได้ปรับเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นธนาคารเพื่อชุมชนมาสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคม (Social Bank) อย่างเต็มรูปแบบเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทย
คุณวิทัยกล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาใหญ่สุดเชิงโครงสร้างสองด้านคือ ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ “ธนาคารออมสินพยายามเข้ามาช่วยทำ” และปัญหาที่สอง คือเรื่องคอรัปชั่น ซึ่งคุณวิทัยมองว่าทั้งสองเรื่องเป็นปัญหาที่แก้ยากที่สุดของประเทศไทย
“แต่แม้แก้ไม่ได้ เราก็สามารถบรรเทาได้ ถ้าเราไม่พยายามช่วยบรรเทาปัญหาโครงสร้างทั้งสองเรื่อง ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจนจะวนเวียนอยู่แบบนี้
บทบาทที่เราทำได้ชัดเจนคือ เข้าไปแข่งขันในตลาดที่ดอกเบี้ยสูงเกินไป”
คุณวิทัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้นำผลกำไรจากการปล่อยโปรเจคธุรกิจใหญ่ มาปล่อยสินเชื่อรายย่อย และใช้วิธีลดต้นทุนอย่างรุนแรงปีละเป็นหมื่นล้าน เพื่อนำกำไรมาขับเคลื่อนภารกิจเพื่อสังคม
ในการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด Social Mission Integration ออมสินสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในภาคประชาชนทุกกลุ่ม ด้วยการพัฒนานวัตกรรมด้านการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการ พร้อมอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม
“ไซส์ของเราถ้าไปวางทาบกับธนาคารอื่น เราอยู่ในอันดับ 1 ใน 5 เรามีฐานลูกค้า 23 ล้านราย มีสินทรัพย์ 3.15 ล้านล้านบาท มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศมากกว่าพันสาขา
ถ้าผมทำธุรกิจ commercial bank จริงๆ เราทำธุรกิจได้ทุกอย่างแบบธุรกิจร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่ความใหญ่ของเรา ทำให้เราช่วยคนได้”
ด้วยความสามารถด้านการบริหารต้นทุนการเงิน ทำให้ออมสินมีเงินฝาก 2.6 ล้านล้านบาท สามารถดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
“ในระยะยาว การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน คือการเพิ่มรายได้ให้เขา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่แก้ยาก การสร้างอาชีพเป็นภารกิจรัฐบาล แต่บทบาทที่เราทำได้ชัดเจน คือเข้าไปแข่งขันในตลาดที่ดอกเบี้ยสูงเกินไป สร้างโอกาสการเข้าถึงให้กับคนฐานราก ซึ่งภาครัฐต้องให้ความร่วมมือด้วย”
ที่ผ่านมาธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 8 ล้านคน เพื่อแบ่งเบาภาระด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชนฐานรากที่เคยประสบอุปสรรคการขอสินเชื่อเนื่องจาก Credit Quality ต่ำลง ด้วยเผชิญปัญหาหนี้สิน อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ยังกระหน่ำซ้ำเติม
ธนาคารออมสินยังจัดทำโครงการสินเชื่อพิเศษผ่อนปรนเงื่อนไข ช่วยประชาชนแก้ปัญหาหนี้เอ็นพีแอล ช่วงโควิด-19 กว่า 3.7 ล้านราย รวมถึงเข้าไปทำธุรกิจบางอย่างที่มีกำไร เช่น การปล่อยสินเชื่อจำนำมอเตอร์ไซด์ หรือจำนำทะเบียนรถ เป็นต้น
คุณวิทัยกล่าวต่อว่า มีคนจำนวนมากที่ไม่เคยเข้าสู่ระบบ หรือเคยเข้าสู่ระบบแต่มีหนี้สิน ทำให้ขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ ธนาคารออมสินจะไปดึงคนกลุ่มนี้กลับมาเข้าสู่ระบบ
“เราช่วยให้ข้อมูลกับภาครัฐและดึงคนเข้าสู่ระบบ” คุณวิทัยกล่าว
แม้การเป็นธนาคารเพื่อสังคมไม่ใช่สิ่งที่ง่าย และไม่ได้ผลกำไรทางธุรกิจเป็นหลัก แต่นี่คือภารกิจที่ออมสินได้หลอมรวมระหว่างธุรกิจ-สังคม
Post Top Ad
Thursday, September 7, 2023
Home
สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม
อสังหาริมทรัพย์
ถอดบทเรียนความสำเร็จ ปตท.-ออมสิน “ผู้นำ” นำสังคมสู่ความเปลี่ยนแปลง
ถอดบทเรียนความสำเร็จ ปตท.-ออมสิน “ผู้นำ” นำสังคมสู่ความเปลี่ยนแปลง
Tags
# สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม
# อสังหาริมทรัพย์
Share This
About threportor
อสังหาริมทรัพย์
Labels:
สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม,
อสังหาริมทรัพย์
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
Author Details
Templatesyard is a blogger resources site is a provider of high quality blogger template with premium looking layout and robust design. The main mission of templatesyard is to provide the best quality blogger templates which are professionally designed and perfectlly seo optimized to deliver best result for your blog.
No comments:
Post a Comment