สวพส. ชู แนวทางการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ให้กับเกษตรกรในพื้นที่สูง ส่งเสริมธนาคารอาหารในป่า (Food bank) - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Saturday, September 23, 2023

สวพส. ชู แนวทางการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ให้กับเกษตรกรในพื้นที่สูง ส่งเสริมธนาคารอาหารในป่า (Food bank)

มีส่วนช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ตามแนวทาง BCG Model


ชุมชนป่าเมี่ยงแม่พริก อยู่ในตำบลแม่พริก อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ครอบคลุม 3 หมู่บ้าน 125 ครัวเรือน ประชากร 400 คน อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวง ในอดีตทรัพยากรป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์ ชุมชนมีอาชีพที่พึ่งพิงกับป่า ด้วยการปลูกชาอัสสัม หรือชาเมี่ยง เพื่อทำเมี่ยงหมัก และเก็บหาของป่า แต่ด้วยมีประชากรเพิ่มขึ้น และเริ่มมีเทคโนโลยีเข้าไปในชุมชน กอปรกับความนิยมบริโภคเมี่ยงหมักลดลง ทำให้ชุมชนมีรายได้ลดลง เกิดปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และใช้สารเคมีการเกษตรสูง ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในป่าที่เป็นแหล่งอาหารของชุมชนเริ่มลดน้อยลง โดยพบว่าพืชท้องถิ่นที่ชุมชนมีการใช้ประโยชน์ 19 ชนิด อยู่ในสถานภาพเป็นพืชหายากหรือใกล้สูญหายจากพื้นที่ ชุมชนต้องพึ่งพาอาหาร (ข้าวและกับข้าว) ยารักษาโรค และไม้ใช้สอยจากภายนอกมากขึ้น ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (สวพส.) โดยโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี ได้เริ่มดำเนินการในชุมชนป่าเมี่ยงแม่พริก ตั้งแต่ปี 2558 โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนให้มีความมั่นคงด้านอาหาร และมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมทั้งลดการบุกรุกป่า ฟื้นฟู อนุรักษ์ และจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชน เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยยึดหลัก “การพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนแบบโครงการหลวง” และได้นำแนวทางของ “โครงการธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำริ” (Food Bank) พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นการสร้างแหล่งอาหารในผืนป่าและในชุมชน เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคประจำวันและหมุนเวียนตลอดทั้งปี

การดำเนินงานโครงการธนาคารอาหาร เริ่มจากการสร้างแหล่งอาหารฝากไว้ในผืนป่า ซึ่งเปรียบเสมือนการฝากเงินในระบบธนาคาร มีการรักษาและปลูกพืชท้องถิ่นหลากหลายเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นอาหารทั้งของคนและสัตว์ เป็นยารักษาโรค และมีประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ เช่น ไม้ใช้สอย สีย้อมธรรมชาติ และแหล่งพลังงาน ซึ่งคนในชุมชนสามารถถอนออกมาใช้ประโยชน์ได้ เปรียบเช่นเดียวกับการถอนเงินในระบบธนาคาร และหากมีเหลือจากการบริโภคแล้ว สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างเป็นอาชีพและสร้างรายได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความหวงแหนและช่วยกันดูแลผืนป่าและแหล่งน้ำรอบชุมชน ทำให้เกิดมีดอกเบี้ยความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แหล่งอาหารธรรมชาติของชุมชนมีเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเปรียบได้กับดอกเบี้ยในระบบธนาคาร โดย “ธนาคารอาหารของชุมชน” มีระบบการบริหารจัดการแบบครบวงจรเช่นเดียวกับระบบธนาคารทั่วไป ด้วยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ร่วมกันกำหนดกฎกติกา ให้การยอมรับและถือปฏิบัติร่วมกัน ตลอดจนมีความร่วมมือของภาคีเครือข่ายหน่วยงานร่วมบูรณาการทุกภาคส่วน

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า ปัจจุบันชุมชนบ้านป่าเมี่ยงแม่พริก มีแหล่งอาหารจากพืชท้องถิ่น ที่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารจากธรรมชาติได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถเพาะปลูกข้าวเพื่อบริโภค ซึ่งทำให้ลดรายจ่ายจากการต้องซื้อจากภายนอกลงกว่าร้อยละ 50 “ก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร” โดยสามารถผลิตข้าวได้ 3,000 กิโลกรัม/ปี และมีพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นสำหรับใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น 53 ชนิด ชุมชนมีอาชีพที่หลากหลายและเกื้อกูลป่า สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ทำให้มีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีพ “ก่อให้เกิดความมั่นคงด้านรายได้” ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการอรุรักษ์ฟื้นฟูอย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับทั้งภายในประเทศและนานาชาติ

ในแนวทางของการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ทางโครงการได้คัดเลือกเกษตรกรนำร่อง เพื่อเพาะปลูกพืชท้องถิ่นที่สามารถปลูกร่วมกับป่า และมีศักยภาพทางการตลาด เช่น หวาย ลิงลาว ไผ่ ผักกูด และเห็ดตับเต่า และนำเกษตรกรในพื้นที่ไปศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในพื้นที่อื่นที่มีบริบทใกล้เคียงกัน รวมทั้งการอบรมให้ความรู้ในการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ของพืชท้องถิ่น ให้เป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ของชุมชน และให้หน่วยงานร่วมบูรณาการเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงาน ได้แก่ การวิเคราะห์ปัญหาร่วมกับชุมชน การตั้งวัตถุประสงค์และเป้าหมายร่วมกัน และการวางแผนปฏิบัติงาน โดยใช้ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศชุดเดียวกัน รวมทั้งการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานร่วมกัน สามารถสร้างความมั่นคงอาหารได้ระดับหนึ่ง

โดยชุมชนปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นปลูกข้าวไร่ และข้าวเหนียวดำพันธุ์ลืมผัว จำนวน 23 ครัวเรือนในพื้นที่ 150 ไร่ ผลผลิตข้าวรวม 3,000 กิโลกรัม ทำให้ชุมชนมีผลผลิตข้าวเพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี สามารถลดรายจ่ายจากการซื้อข้าวเพื่อบริโภคในระหว่างปี พ.ศ.2562-2563 ได้ถึง 178,984 บาท และพัฒนาปริมาณการผลิตข้าวก่ำพันธุ์ข้าวลืมผัวให้มากขึ้นเพื่อการจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน โดยเกษตรกรมีการรวมกลุ่มและจดทะเบียน “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปข้าวป่าเมี่ยงแม่พริก” เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 และมีเครื่องหมายการค้า “ตราดอกเมี่ยง” โดยมีสมาชิก 13 ราย สร้างรายได้ให้แก่กลุ่ม 25,000 บาท

รวมทั้งการปลูกฟื้นฟูพืชท้องถิ่นเพื่อเสริมแหล่งอาหาร (Food bank) ในพื้นที่ป่าใช้สอยของชุมชน 53 ชนิด ในพื้นที่เกษตรกรรมและสวนหลังบ้าน พื้นที่ 65 ไร่ จำนวน 34 ชนิด 37,000 ต้น เช่น ลิงลาว ผักกูด ผักหนาม หวายหนามขาว เชียงดา เสลดพังพอนตัวผู้และตัวเมีย ฟ้าทะลายโจร สะแล พริกไทย ดีปลี รวมทั้งมีการเพาะเลี้ยงเห็ดท้องถิ่นเพื่อเสริมแหล่งอาหาร เช่น เห็ดหูหนู เห็ดนางฟ้า-นางรม เห็ดขอน และเห็ดตับเต่า เป็นต้น ก่อให้เกิดรายได้จากการเพาะปลูกพืชท้องถิ่นและเพาะเลี้ยงเห็ด รวม 205,070 บาท

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงา 30 ครัวเรือน พื้นที่ 131 ไร่ ผลผลิตกาแฟกะลา 5,141 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ารวม 723,965 บาท ชาอัสสัม 450,000 บาท การเพาะปลูกไม้ผล 48 ครัวเรือน รายได้ 363,406 บาท และอื่น ๆ 12,782 บาท

ลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 83.5 (จากพื้นที่ปลูกเดิม 850 ไร่ เหลือ 140 ไร่) โดยปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ ระบบการปลูกพืชแบบผสมผสานและไม้ผลยืนต้น ลดการเผาเตรียมพื้นที่ และลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับผืนป่า 53 ชนิด มีค่าดัชนีความหลากหลายของพรรณพืช (Species diversity index) เท่ากับ 2.97 และป่ารอบชุมชน 8,932 ไร่ ได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู โดยชุมชนและหน่วยงานร่วมบูรณาการ ป่ามีค่าการสะสมคาร์บอนในมวลชีวภาพเฉลี่ย 11.75 ตัน/ไร่

เกิดการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) เพื่อเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ และมีบทบาทเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านต่างๆ (Change Agent) ของชุมชนป่าเมี่ยงแม่พริก เกิดความตระหนักรู้ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ผ่านการเรียนการสอนในหลักสูตรท้องถิ่นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พืชท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมกับโรงเรียนบ้านป่าเมี่ยงแม่พริก “เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ สู่ความยั่งยืน”

ปัจจุบัน ต้นแบบ “ธนาคารอาหารในป่า” ของชุมชนป่าเมี่ยงแม่พริก มีการขยายผลเพิ่มขึ้นใน 2 บริบทพื้นที่ ได้แก่ บริบทชุมชนป่าเมี่ยง (ชาอัสสัม) และบริบทชุมชนปลูกข้าวโพด/ไร่หมุนเวียน ในพื้นที่เครือข่ายจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และน่าน รวม 25 ชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและสร้างรายได้ที่พอเพียงต่อการดำรงชีพของชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนบนพื้นที่สูง รวมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนจากพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่น เพื่อเป็นกลไกในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages