เผยโฉม! สุดยอดพิพิธภัณฑ์ผู้คว้ารางวัล MTA2019 - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Saturday, September 14, 2019

เผยโฉม! สุดยอดพิพิธภัณฑ์ผู้คว้ารางวัล MTA2019


สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(มิวเซียมสยาม) จัดงาน “มิวเซียมไทยแลนด์ อะวอร์ด 2019 (Museum Thailand Awards 2019)” โดยได้จัดงานมอบรางวัลและประกาศผลอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ (Siam Society) ซึ่งได้มีการเปิดรับสมัครคัดเลือกพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในประเทศไทยเข้ารับรางวัล “Museum Thailand Awards 2019” เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา โดยปีนี้ ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด “Perspective” ที่ต้องการสื่อถึงการเชื่อมโยงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเข้ากับพิพิธภัณฑ์เมือง ด้วยการบูรณาการร่วมกันอย่างยั่งยืนทั้งในเชิงวิสัยทัศน์และกระบวนการทำงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานพิพิธภัณฑ์ไทยสู่สากล

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)เปิดเผยว่า มิวเซียมสยาม ได้ดำเนินการจัดโครงการ “มิวเซียมไทยแลนด์ อะวอร์ด 2019 (Museum Thailand Awards 2019)” เพื่อมุ่งยกระดับพิพิธภัณฑ์ ภายในประเทศไทยให้ก้าวสู่พิพิธภัณฑ์ระดับสากล พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ภายในประเทศไทย ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากรด้านพิพิธภัณฑ์ ให้มีความรู้ความสามารถ ในเชิงวิสัยทัศน์และกระบวนการการปฏิบัติ รวมทั้งสร้างกระแสการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ หรือแหล่งเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีพันธมิตรพิพิธภัณฑ์สนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ภาพรวมของการพัฒนาและดำเนินงานด้านพิพิธภัณฑ์มีความเคลื่อนไหวและการขยายตัวมากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และส่งผลให้เครือข่ายของพิพิธภัณฑ์ไทยเข้มแข็งจนก่อให้เกิดแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาวงการพิพิธภัณฑ์ในอนาคต ตลอดจนการเข้ามามีส่วนร่วมของพิพิธภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น เนื่องจากคณะทำงานได้เข้าไปพัฒนาและได้ทราบถึงความเข้มแข็งของชุมชน แต่ยังขาดการสนับสนุน จึงได้เพิ่มประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านชุมชนและท้องถิ่นเพื่อเป็นกำลังใจและเป็นรางวัลที่สร้างคุณค่าของการร่วมมือกันให้แก่ชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย”

โดยปีนี้ โครงการ Museum Thailand Awards 2019 ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ในการส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ กว่า 70 แห่ง โดยมีการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในสายงานพิพิธภัณฑ์ทั้ง 6 ท่านได้แก่ ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ประธานคณะกรรมการ กรรมการบริหาร OKMD อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, อ.วิษณุ เอมประณีตร์ ประธานที่ปรึกษาหอศิลป์พุทธะ, อ.พัชรินทร์ กรูเนิร์ต อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี,
ดร.วีรานันท์ ดำรงสกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล, คุณบุณฑริก เขมาชีวะ ที่ปรึกษาด้านพิพิธภัณฑ์ มิวเซียมมายส์ และคุณพัฒนพงศ์ มณเฑียร ศิลปิน/ที่ปรึกษาด้านพิพิธภัณฑ์ มิวเซียมมายส์ และมีการจัดกิจกรรมร่วมโหวตพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน หรือ Popular Vote อีกด้วย

ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ประธานคณะกรรมการการตัดสินรางวัลพิพิธภัณฑ์ดีเด่นMuseum Thailand Awards 2019 ได้กล่าวว่า “การจัดประกวด Museum Thailand awards ในครั้งนี้เป็นการให้กำลังใจ กับบรรดาพิพิธภัณฑ์ หรือคนที่อยู่ในวงการพิพิธภัณฑ์ รวมถึงชุมชนท้องถิ่น ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะเป็นมิติใหม่ของการเรียนรู้ของประชาชนโลกในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากรูปแบบการนำเสนอความรู้ทั่วไปของงานพิพิธภัณฑ์ว่าไม่ใช่เป็นการเก็บรวบรวมของเก่าเท่านั้นนั้น แต่ยังสามารถนำเสนอรูปแบบการเรียนรู้แบบใหม่ผ่านเครื่องมือสื่อสารต่างๆ เช่น การนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเพิ่มสมรรถนะในการเรียนรู้สำหรับผู้เข้าชม ซึ่งมีหลากหลายก่อให้เกิด กระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ด้านคุณพัฒนพงศ์ มณเฑียร อีกหนึ่งในคณะกรรมการฯ ที่เปรียบเสมือนตัวแทนจากคนรุ่นใหม่ ได้กล่าวว่า “จากการที่ตนได้สัมผัสพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศคเราจะเห็นว่ามีการใช้เทคโนโลยี มีการใช้ดิจิตอลแพลตฟอร์มในการพัฒนาการดำเนิน แต่ถึงอย่างไรก็ดีการที่พิพิธภัณฑ์ไทยจะพัฒนา จะมองข้ามหัวใจของงานพิพิธภัณฑ์และหัวใจของคนพิพิธภัณฑ์ไปไม่ได้ ถ้าเราเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนทัศนคติทัศนคติในการทำงาน เราก็สามารถเทียบเท่ากับมาตรฐานสากลได้เช่นกัน เพราะไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ หรือ พิพิธภัณฑ์ในชุมชนและท้องถิ่น ก็มีของดีที่ซ่อนอยู่และสามารถนำออกสู่สายตาผู้เข้าชมได้อย่างแน่นอน”

สำหรับพิพิธภัณฑ์ที่มีได้รับรางวัลจากทั้ง 2 ประเภทในปีนี้ มีจำนวนทั้งหมด 15 รางวัลด้วยกัน โดยตัวแทนจากศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยมหาอินทร์ ณ เชียงใหม่)เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลถึง 2 ปีซ้อน ในประเภทรางวัลพิพิธภัณฑ์ดีเด่นด้านสังคม ศิลปะ และวัฒนธรรม กล่าวว่า “นับเป็นความภาคภูมิใจของทางพิพิธภัณฑ์ ที่ทางคณะกรรมการได้คัดเลือกและมอบรางวัลในปีนี้ เพราะปีนี้สัมผัสได้ว่ามีการคัดเลือกที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น และทางพิพิธภัณฑ์จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาในส่วนของการนำเสนอ ตลอดจนการเก็บรักษาสถาปัตยกรรมเป็นอย่างดี เพราะการได้รางวัล 2 ปีซ้อนนี้ นับว่าเป็นแรงกระตุ้นของพิพิธภัณฑ์ที่ในปีหน้า อยากจะคว้ารางวัลในปีที่ 3 อย่างต่อเนื่อง”

ด้านมิวเซียมภูเก็ตหนึ่งในตัวแทนพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลในประเภทพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน หรือ Popular Vote กล่าวว่า “ขอขอบคุณผู้ที่ร่วมโหวตให้ มิวเซียมภูเก็ต เป็นพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน รวมถึงต้องขอให้สัญญาว่า มิวเซียมภูเก็ต จะนำคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ และจะมีการพัฒนาปรับปรุงมิวเซียมภูเก็ตให้อยู่ในใจของคนในประเทศไทยต่อไป”

สำหรับผลการคัดเลือกพิพิธภัณฑ์ ที่ได้รับรางวัลทั้งหมด จำนวน 15 แห่ง โดยแยกตามด้านและประเภท มีรายชื่อ ดังนี้

ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านสังคม ศิลปะ และวัฒนธรรม แบ่งเป็น

1. รางวัลดีเด่นด้านการจัดแสดงนิทรรศการ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

2. รางวัลดีเด่นด้านกระบวนการเรียนรู้ ได้แก่ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยมหาอินทร์ ณ เชียงใหม่)

3. รางวัลดีเด่นด้านความสัมพันธ์กับชุมชน ได้แก่ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

4. รางวัลดีเด่นด้านการอนุรักษ์และสืบสาน ได้แก่ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2)

ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แบ่งเป็น

1. รางวัลดีเด่นด้านการจัดแสดงนิทรรศการ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

2. รางวัลดีเด่นด้านกระบวนการเรียนรู้ ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย

3. รางวัลดีเด่นด้านความสัมพันธ์กับชุมชน ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านของพ่อ

4. รางวัลดีเด่นด้านการอนุรักษ์และสืบสาน ได้แก่ บ้านหมอหวาน

ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น

1. รางวัลดีเด่นด้านการจัดแสดงนิทรรศการ ได้แก่ สยามเซอร์เพนทาเรียม

2. รางวัลดีเด่นด้านกระบวนการเรียนรู้ ได้แก่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา

3. รางวัลดีเด่นด้านความสัมพันธ์กับชุมชน ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช

4. รางวัลดีเด่นด้านการอนุรักษ์และสืบสาน ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด

ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านชุมชนและท้องถิ่น แบ่งเป็น

1. รางวัลดีเด่นด้านกระบวนการเรียนรู้ได้แก่ ศูนย์จักสานที่ใหญ่ที่สุดในโลก

2. รางวัลดีเด่นด้านความสัมพันธ์กับชุมชน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ชุมชนเกาะศาลเจ้า

3. รางวัลดีเด่นด้านการอนุรักษ์และสืบสาน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี พิษณุโลก

ประเภทพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน หรือPopular Vote

1. หอประวัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

2. หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ

3. พิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

4. พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

5. พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

6. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา

7. พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน

8. มิวเซียมภูเก็ต

9. ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าน้อย มหาอินทร์ ณ เชียงใหม่)

10. ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน

“สำหรับโครงการMuseum Thailand Awardsจะยังคงดำเนินการในปีต่อ ๆ ไป เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรในวงการพิพิธภัณฑ์ ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้วงการพิพิธภัณฑ์ไทยต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด และแน่นอนว่าการตัดสินรางวัลในปีต่อไปก็จะเพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณารางวัลมากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของตัวพิพิธภัณฑ์เอง และการมีส่วนร่วมกับสังคม เพื่อผลักดันให้พิพิธภัณฑ์ไทยก้าวเข้าสู่ระดับสากลได้อย่างภาคภูมิใจ รวมถึงเว็บไซต์MuseumThailand.comที่จะยังคงดำเนินการพัฒนาและสร้างสรรค์กิจกรรมให้สังคมของคนรักพิพิธภัณฑ์ขยายวงกว้างมากขึ้น ช่วยผลักดันและส่งเสริมวัฒนธรรมการท่องเที่ยวให้แพร่และยั่งยืนในสังคมไทยต่อไป”นายราเมศ พรหมเย็นกล่าวทิ้งท้าย

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages