นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “โกลบอลคอมแพ็ก เป็นโครงการสำคัญขององค์การสหประชาชาติที่ก่อตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งเสริมให้องค์กรทุกภาคส่วนทั่วโลกตระหนักและร่วมกันนำแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลัง ยกระดับมาตรฐานการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล โดยเน้นแกนหลัก 4 ด้าน คือ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต องค์กรธุรกิจชั้นนำของไทยที่เล็งเห็นประโยชน์ของโครงการนี้ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกจัดตั้งเครือข่ายในประเทศไทย”
นายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาติ ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานในการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กในประเทศไทย กล่าวว่า “ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นผู้นำจากองค์กรชั้นนำของภาคเอกชนไทยจำนวนมากมารวมตัวกันเพื่อสร้างเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กในประเทศไทย และร่วมกันรับภาระอันยิ่งใหญ่ที่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานขององค์การสหประชาชาติ โลกเราในทุกวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งนำมาซึ่งความไม่มั่นคงและความเสี่ยงหลายประการ แต่การที่ทุกท่านหันมาร่วมมือกันเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาเช่นนี้ เราจะสามารถรับมือกับปัญหาเร่งด่วนที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งสามารถสร้างอนาคตที่ดีกว่าวันนี้ได้”
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กในประเทศไทยมีสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งจากทุกอุตสาหกรรมหลัก คือ กลุ่มเกษตรและอาหาร ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม ได้แก่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ได้แก่ บริษัท พินนาเคิล โฮเต็ลส์ แอนด์ รีสอร์ท จำกัด กลุ่มอุตสาหกรรมสื่อและสิ่งพิมพ์ ได้แก่ บริษัท พริ้นท์ ซิตี้ จำกัด
“การที่องค์กรธุรกิจเอกชนจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรมรวมพลังกันเช่นนี้ ในงานเปิดตัวจะส่งผลในวงกว้าง เนื่องจากแต่ละองค์กรต่างก็มีซัปพลายเชนขนาดใหญ่ มีลูกค้า คู่ค้า และพนักงานรวมกันเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนของไทยมีความตื่นตัวเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการสร้างจิตสำนึก การให้ความรู้ และการจัดกิจกรรมร่วมกัน จะก่อให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ที่เป็นหัวใจของการพัฒนา และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม” นายศุภชัยกล่าว
การดำเนินกิจกรรมของสมาคมฯ จะเน้นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ภายใต้เป้าหมายหลัก 4 ด้านของโกลบอลคอมแพ็ก กิจกรรมหลักได้แก่ การจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับความรู้ใหม่ๆ และเทรนด์ของโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน การจัดสัมมนาเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ เช่น แรงงานเด็ก การจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้องค์กรสมาชิกได้พบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และหารือเรื่องความร่วมมือในการดำเนินการต่างๆ ที่จะยกระดับการทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
“จากเป้าหมายหลัก 4 ด้านเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลกนั้น ในประเทศไทยเราจะเริ่มที่เรื่อง สิทธิมนุษยชน เนื่องจากเป็นประเด็นหลักที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ สมาคมฯ เล็งเห็นว่าเรื่องของสิทธิมนุษยชนยังมีความละเอียดอ่อนมาก และมีหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเรื่องแรงงานเด็ก แรงงานต่างชาติ แรงงานสตรี สวัสดิการ และอื่นๆ ที่หลายคนยังไม่ทราบ จำเป็นที่เราจะต้องนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นเร่งด่วนและผลักดันให้มีการปรับปรุงอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งนอกจากสมาคมฯ จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการเผยแพร่ความรู้และเปิดโอกาสให้สมาชิกเรียนรู้ร่วมกันผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว เรายังมุ่งหวังจะชักชวนให้องค์กรธุรกิจทั่วประเทศเข้าร่วมกับสมาคมฯ เพื่อให้เกิดเครือข่ายที่สามารถสร้างพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยวางเป้าหมายที่จะเพิ่มสมาชิกให้ครบ 100 องค์กรภายในสิ้นปี 2562” นายศุภชัยกล่าว
ในการดำเนินงานปี 2562 สมาคมฯ มีภารกิจหลักในการให้ข้อมูลแก่องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรชั้นนำ และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมฯ เพื่อให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ สมาคมฯ จะโรดโชว์ไปตามกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และหอการค้าแต่ละจังหวัด และมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนองค์กรสมาชิกจาก 40 รายในปัจจุบัน เป็น 100 รายภายในสิ้นปี 2562 ตลอดจนสนับสนุนและช่วยเหลือให้องค์กรภาคเอกชนไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของโกลบอลคอมแพ็กขององค์การสหประชาชาติด้วย
ทั้งนี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2560 จากการรวมตัวของ 15 องค์กรเอกชนชั้นนำของไทยครอบคลุมอุตสาหกรรมหลัก เพื่อให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงโดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีความสมดุลและยั่งยืน ภายใต้ United Nations Global Compact ของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นเครือข่ายของภาคเอกชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีสมาชิกกว่า 13,000 องค์กร ใน 160 ประเทศทั่วโลก
No comments:
Post a Comment