Vanta ในงาน Impact Day 2019 - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Monday, November 4, 2019

Vanta ในงาน Impact Day 2019



หนึ่งปีเวียนมาครบพอดีกับงาน Impact Day ปีที่แล้วเราได้มาร่วมงานในฐานะ 1 ใน 5 ทีมผู้ชนะโครงการ Banpu Champions for Change ปีนี้เราได้รับโอกาสให้มาในฐานะกิจการเพื่อสังคมที่มาร่วมออกบูธใน Market for Change วันที่ 4 พ.ย. 2562 ตั้งแต่ 10.00-21.00 @ Central World ณ ลาน Eden ชั้น 1




นอกจากนี้ เรายังนำผลงานของ Vanta มาร่วมแสดงใน Ethical Craft Fashion Show ตั้งแต่ 17.00-17.40 นะคะ

Vanta รู้สึกขอบคุณ



ขอขอบคุณลูกค้าผู้น่ารักทุกท่านที่มาเยี่ยมเยียน มาพบปะ พูดคุย อุดหนุนกัน ในงาน Impact Day ที่ Central World ณ ลาน Eden ชั้น 1


เนื้อผ้าที่มีความละเอียดและเนื้อแน่นของเรานั้น ทำให้หลายๆคนที่ได้สัมผัสผลงานเกิดความสงสัยว่าผ้าของเราเป็นผ้าที่ทอด้วยมือจริงๆเหรอ?

เราจะขอเล่ากระบวนการทอผ้าของเราคร่าวๆสำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจว่า ผ้าทอมือนั้นมีขั้นตอนอย่างไรและมีอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้อะไรบ้าง


ผ้าทอมือเกิดจากการเรียงตัวของเส้นฝ้ายสองทางขัดกันระหว่าง "เส้นยืน" กับ "เส้นพุ่ง"

"เส้นยืน" คือ เส้นที่อยู่ในแนวตั้งของผ้า ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมเป็นสัปดาห์ ด้วยการนำเส้นฝ้ายไปต้มน้ำกับข้าวหุงสุกในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้มีความเหนียวทนทานต่อการเสียดสี (ถ้าใช้มากไป เส้นยืนจะแข็งเกินไป ทำให้การเหยียบตะกอเพื่อให้เส้นฝ้าย 2 เส้นที่อยู่ในช่องฟืมแต่ละช่องขึ้นลงนั้นเหยียบสลับกันไม่ได้ เพราะมันจะติดกันเอง แต่ถ้าใช้น้อยเกินไป เส้นฝ้ายก็จะขาดง่าย) จากนั้นนำมาสืบเส้นยืน โดยมัดเส้นฝ้ายด้วยมือให้เข้ากับตะกอทีละเส้น รวมกว่า 2,160 เส้น ในผ้าหน้ากว้าง 1 เมตร

"เส้นพุ่ง" คือ เส้นที่อยู่ในแนวนอนของผ้า ซึ่งต้องกรอสะสมเตรียมไว้ในกระสวย ก่อนจะนำไปพุ่งสลับด้านซ้าย-ขวา

โดยใช้ "ฟืม" คือ อุปกรณ์ที่มีช่องเล็กๆเหมือนฟันหวี (วัสดุทำจากโลหะ) เป็นตัวกระแทก เพื่อให้เส้นพุ่งและเส้นยืนเรียงต้วเข้าหากัน โดยมี "ตะกอ" คือ ตัวที่ใช้ยกเส้นยืน ขึ้น-ลง ทำให้เส้นฝ้ายเกิดการทอขัดกัน ดังนั้นขั้นต่ำที่ต้องมีในการทอผ้า คือ 2 ตะกอ โดยวิธีการทำงาน คือ ต้องใช้เท้าเหยียบสลับกันไปมา

แต่ผ้าของเราเลือกใช้แบบ 3 ตะกอ เนื่องจากเป็นเทคนิคการทอที่เป็นภูมิปัญญาและความถนัดของแม่ๆในจ.สุรินทร์อยู่แล้ว อีกทั้งการทอแบบนี้ ยังทำให้ได้เนื้อผ้าที่มีชื่อว่า "Cotton Twill" ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือ ความแข็งแรง ทนทาน แต่ในขณะเดียวกันก็ระบายอากาศได้ดี

นอกจากนี้ โดยปกติแล้วฟืมที่ใช้สำหรับทอผ้าฝ้ายกับผ้าไหมนั้นจะมีจำนวนช่องที่มีความถี่ต่างกัน คือ ฟืมที่ใช้สำหรับทอไหมจะมีจำนวนช่องมากกว่าฟืมทอฝ้าย เนื่องจากเส้นไหมมีขนาดเล็กกว่าเส้นฝ้าย อีกทั้งจำนวนของเส้นยืนที่วิ่งผ่านฟืมในแต่ละช่องนั้นก็แตกต่างกัน คือ โดยทั่วไปการทอไหมจะใช้เส้นยืน 2 เส้นในหนึ่งช่อง และสำหรับการทอฝ้ายจะใช้เพียงแค่เส้นเดียว

แต่ผ้าของเราใช้เส้นฝ้ายถึง 2 เส้นด้วยกัน เพราะทอโดยช่างผู้ชำนาญการทอไหมในจ.สุรินทร์ ทำให้เนื้อผ้าของเรามีความแตกต่าง สวยงาม และมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

แนวคิดในการพัฒนาเทคนิคการทอใหม่นี้ เกิดจากการสำรวจความถนัดของแม่ๆในหมู่บ้าน และการลองผิดลองถูกหลายๆแบบเพื่อหานวัตกรรมในการทำเนื้อผ้าที่ดีที่สุด เราจึงเลือกใช้เทคนิคการทอไหม ซึ่งเป็นความถนัดของแม่ๆในหมู่บ้าน แต่เปลี่ยนวัตถุดิบจากเส้นไหมมาเป็นเส้นฝ้าย เพื่อลดการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิต (หนอนไหม) โดยเราเลือกใช้เส้นฝ้ายที่เพาะปลูกแบบออร์แกนิคที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็ก เพื่อให้เส้นฝ้ายสามารถผ่านฟืมในแต่ละช่องได้ 2 เส้น แต่ก็พบกับปัญหาว่าเส้นฝ้ายมีความเหนียวน้อยกว่าเส้นไหมมาก ทำให้ไม่สามารถทอได้เนื่องจากเส้นฝ้ายขาดง่าย เพราะเส้นฝ้ายไปเสียดสีกับฟืมที่เป็นโลหะ เราจึงต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นาน จนกระทั่งมีแม่ๆของเราทำได้คนแรก คือ ยายเอ็ดผู้กล้าออกนอกกรอบของเรา

และเนื่องจากความเคยชินในการทอผ้าไหมของแม่ๆช่างทอที่เดิมทีนั้นเวลาทอผ้าไหมจะต้องกระแทกฟืมเข้าหาตัวผู้ทอด้วยความแรง จึงทำให้เนื้อผ้าฝ้ายของเรามีความแน่นมาก แต่ในขณะเดียวกันความยาวของผ้าที่ได้ในแต่ละผืนนั้นก็จะอยู่ที่ประมาณ 13-14 เมตรเพียงเท่านั้น เพราะยิ่งม้วนผ้าที่อยู่บริเวณท้องมีปริมาณหนาขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้ผู้ทอเจ็บหน้าท้องมากขึ้น เนื่องจากการกระแทกฟืมที่แรงนั่นเอง ทำให้เราต้องออกแบบแพตเทิร์นเสื้อผ้าให้ดี เพื่อใช้ประโยชน์จากผ้าผืนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จากที่เล่ามาข้างต้น จะเห็นได้ว่าผ้าของเราในแต่ละผืนนั้น ผ่านขั้นตอนการคิดและกระบวนการที่ต้องใช้ความใส่ใจและความละเอียดลออเป็นอย่างมาก เพราะทุกๆเซนติเมตรที่ทอได้นั้น ต้องมีสติและสมาธิอยู่ตลอด จนกระทั่งได้มาเป็นผ้าผืน ก่อนนำไปออกแบบ และตัดเย็บจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ของ Vanta ต่อไป

#VantaVeganFabric #WearHumble #OrganicCotton #HandWoven #NaturalDye #CottonTwill

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages