สำหรับประเทศไทย มีการนำ “IP” หรือ “ข้อตกลงคุณธรรม” มาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2558 และปัจจุบันถูกระบุให้เป็นเครื่องมือหลักสำหรับภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป้าหมายสำคัญเป็นเรื่องประสิทธิภาพการใช้งบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยกระบวนการทำงานที่สร้างความโปร่งใส โดยมุ่งเน้นโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่าโครงการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป นอกเหนือจากการป้องกันการทุจริตแล้ว ยังทำให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพ เกิดการแข่งขันที่กว้างขวางและเป็นธรรม ทั้งนี้ หลักการสำคัญของข้อตกลงคุณธรรม ประกอบด้วย
1.ข้อตกลงคุณธรรมเป็นกระบวนการและมีความเป็นสากล นั่นคือจะมีองค์ประกอบของ 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ หรือหน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการ ให้คำมั่นไม่ทำทุจริต ไม่เรียก—รับ หรือยอมรับผลประโยชน์อื่นใด มีบทบาทเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน และให้ผู้ประมูลยอมรับกติกาของข้อตกลงคุณธรรมเป็นส่วนหนึ่งของการเสนอราคา ภาคประชาชน หรืออาสาสมัครผู้สังเกตการณ์อิสระ ทำหน้าที่แจ้งเตือนนำเสนอเป็นรายงานให้ทุกฝ่ายได้รับทราบหากพบข้อมูลบ่งชี้ที่อาจจะเกิดทุจริต หรือข้อสงสัยว่าจะเกิดความเสียหายต่อโครงการและผลประโยชน์สาธารณะ และ ภาคธุรกิจ หรือ องค์กรเอกชนผู้เข้าร่วมเสนอราคา ให้คำรับรองไม่ให้สินบน หรือเสนอสินบนเพื่อประโยชน์ในการเสนอราคา และยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
ในกระบวนการดังกล่าว ภาครัฐรับผิดชอบดำเนินการโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ส่วนภาคประชาชน ดำเนินการโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีภาคประชาชน ซึ่งหมายถึง อาสาสมัครผู้สังเกตการณ์อิสระ สำหรับภาคเอกชน ได้แก่ บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมเสนอราคาประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
2.ข้อตกลงคุณธรรมมีวิธีดำเนินงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับกฏหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 63 ในที่นี้ได้แก่ ความร่วมมือจาก “อาสาสมัคร ผู้สังเกตการณ์อิสระ” หรือ “Independent Observer” ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากจากหลากหลายสาขา อาชีพ นับจากปี 2558 ถึงปัจจุบัน มีผู้สังเกตการณ์อิสระที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้ประสานความร่วมมือและได้รับการคัดสรรจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาวิศวกร สภาสถาปนิก และสภาวิชาชีพบัญชีฯ เข้าไปปฏิบัติหน้าที่แล้วมากกว่า 184 คน ในอนาคตคาดหวังว่า จะสามารถเผยแพร่รายงานของผู้สังเกตการณ์อิสระให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนขยายผลมากยิ่งขึ้น
3.ข้อตกลงคุณธรรมมีระบบบริหารจัดการและระบบฐานข้อมูล ที่จะอำนวยความสะดวกให้อาสาสมัคร ผู้สังเกตการณ์อิสระได้ทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนได้มีประสิทธิผล จนถึงปัจจุบัน โครงการข้อตกลงคุณธรรมได้สร้างผลเชิงประจักษ์ มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้จำนวนทั้งสิ้น 118 โครงการ โดยดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 63 โครงการ คิดเป็นงบประมาณมูลค่ารวมกว่า 1.84 ล้านล้านบาท ปรากฎว่าสามารถประหยัดงบได้ 82,796 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.06 ของงบประมาณดังกล่าว
จากการที่โครงการข้อตกลงคุณธรรมดำเนินการเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ถึงเวลาที่จะต้องเปิดรับฟัง ความคิดเห็นจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ (Expert Opinion) จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนาหัวข้อ “ข้อตกลงคุณธรรม :ต้านโกง โปร่งใส ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ” โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เชื่อว่า วิทยากรเหล่านี้จะสามารถสะท้อนความคิดเห็นได้ว่า มีอะไรที่จะต้องปรับปรุงพัฒนา และจะพัฒนากันอย่างไร เพื่อจะสนับสนุนความยั่งยืนของข้อตกลงคุณธรรมให้สังคมได้ประโยชน์ต่อเนื่องต่อไป จากนั้น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯจะนำข้อเสนอแนะนี้เผยแพร่ต่อสาธารณชนและนำเสนอต่อภาครัฐต่อไป.
No comments:
Post a Comment