นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยพัฒนาเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์เต็มรูปแบบ ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 10 ปี และเป็นโรงเรียวิทยาศาสตร์ชั้นนำกลุ่มหนึ่งของประเทศไทย ด้วยคุณภาพทัดเทียมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ ส่งผลให้สามารถพัฒนาและปลูกฝังนักเรียนให้มีความพร้อมไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา มุ่งสู่การเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ นักคิดค้นนวัตกรรม ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่มีความสามารถสร้างองค์ความรู้ในอนาคต และสามารถสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้กับประเทศชาติและสังคมไทยในอนาคต
“ผมขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งต่อ ผู้บริหาร คณะครู และบุคลากร ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทุกท่าน ที่ดำเนินภารกิจและพัฒนางานของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยด้วยดีตลอดมา ขอชื่นชมมาและขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านร่วมกันพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูงทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้เป็นประโยชน์และกำลังสำคัญ ต่อการพัฒนาความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้กับประเทศไทย ต่อไป
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยจัดเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศไทย ที่ผลิตบุคลากรผู้มีความรู้ ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รับใช้สังคม สร้างความเจริญให้กับตนเองและส่วนรวมตลอดมา ความสำเร็จในวันนี้เกิดจากบุคลากรทุกยุคสมัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง
“ในวาระของการเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์เต็มรูปแบบของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ครบ 10 ปีในปี 2563 นี้ ดิฉันขอแสดงความชื่นชมสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทุกท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษาคณะกรรมการโครงการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่ได้ช่วยกันอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีนี้ อุทิศตนในการพัฒนาองค์ความรู้และวิชาการต่าง ๆ มากมายแก่สังคม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะร่วมกันพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
ดร.กวินเกียรติ นนท์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยได้พัฒนาก้าวหน้าเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติ ทั้งยังประสบความสำเร็จในการรักษาคุณภาพการเรียนการสอนทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง โดยนักเรียนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยได้รับการบ่มเพาะความรู้ ทักษะ และการศึกษาที่เน้นคุณภาพ สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนอันเป็นกำลังหลักของการพัฒนาประเทศด้านการเป็นนักวิจัยนักประดิษฐ์ นักคิดค้นนวัตกรรม ซึ่งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อกระจายโอกาสและพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง
“โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีความก้าวหน้าด้วยความพากเพียรและความพยายามในการทำงานของผู้บริหาร ครู บุคลากร ที่มุ่งมั่นและอุทิศตนในการพัฒนาโรงเรียนมาโดยตลอด ดังนั้นในโอกาสครบรอบ 10 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 จึงเป็นวาระสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จก้าวหน้าตามอุดมการณ์และเป้าหมายของการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย”ดร.กวินเกียรติ กล่าว
ผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากปี 2553 ถึง 2563 ของการเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการ ที่ยืนยันความสามารถของผู้บริหาร และครูที่เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการพัฒนาการเรียนการการสอนให้มีคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับเดียวกับการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยหากพิจารณาผลคะแนนเฉลี่ยของการประเมินคุณภาพการศึกษา โดยกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) ด้วยตัวชี้วัด PISA หรือ Programme for International Student Assessment ที่มีการจัดการประเมินทุกๆ 3 ปี ใน 3 ครั้งที่ผ่านมา คือ PISA 2012 PISA 2015 และ PISA 2018 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้ว เกือบทุกประเทศ
นอกจากนี้คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ยังเป็นที่ยอมรับของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ดีพิเศษ หรือ Super Science High School ที่เป็นโรงเรียนมัธยมชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยแต่ละแห่ง มี Super Science High School ของญี่ปุ่น 1-2 แห่ง เป็น Partner school เพื่อให้นักเรียนทำกิจกรรมทางวิชาการร่วมกัน
รวมไปถึงเป็นที่ยอมรับของมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนฮ่องกง คือ The University of Hong Kong, The Hong Kong University of Science and Technology และ City University of Hong Kong และได้ทุนการศึกษานักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เข้าศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศนิวซีแลนด์ที่ยอมรับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ให้นักเรียนที่ จบ ม.6 เข้าศึกษาในชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยโดยตรง (Direct Entry) คือ The University of Auckland, University of Otago, Victoria University of Wellington, Massy University, The University of Waikato, Lincoln University และAuckland University of Technology
“ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์เต็มรูปแบบนี้ นักเรียนรุ่นแรกที่เข้าเรียนเมื่อเริ่มเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์เต็มรูปแบบในปีการศึกษา 2554 มีจำนวนหลายคน ที่หลังจากเรียน ม.ปลาย 3 ปี แล้วไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี 4 ปี และได้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโท 2 ปี จากนั้นในปีการศึกษา 2563 ได้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเป็นที่คาดหมายว่านักเรียนเหล่านี้จะพัฒนาเป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักประดิษฐ์ นักคิดค้น และนักนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามอุดมการณ์ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย”
No comments:
Post a Comment