ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ประธานในพิธีกล่าวถึงแนวคิดและวัตถุประสงค์การจัดทำแอปพลิเคชั่น “Vajira @ Home” ว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังมีผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนมีความกังวล หากต้องมาพบแพทย์ ทางวชิร พยาบาล จึงมีนโยบายเพิ่มช่องทางการรักษาจากที่บ้านโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ด้วยระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) ผ่านแอปพลิเคชั่น เป็นการรักษาแบบแพทย์ทางไกล ในการรับส่งข้อมูลเชิงสุขภาพกับผู้ป่วยผ่านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเปิดตัวแอปพลิเคชั่นอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้
รวมทั้ง ยังเปิดให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลการนัดหมายทั้งก่อนวันนัด คิวการรับบริการ ผู้ป่วยสามารถเปิด ”ประวัติสุขภาพ” ที่มีผลการวินิจฉัย การรักษา ยาที่ได้รับ รวมทั้งผลการตรวจเลือด ในส่วน “สมุดบันทึก” ผู้ป่วยสามารถบันทึกค่าต่างๆ เช่น ข้อมูลน้ำตาล ค่าความดันโลหิต โดยสามารถเชื่อมต่อกับเครื่องมืออื่นๆ เช่น นาฬิกาดิจิทัล (สมาร์ทวอทช์) สามารถถาม-ตอบแบบอัตโนมัติด้วยระบบ Chat Bot นอกจากนี้สามารถแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินพร้อมระบุตำแหน่ง GPS เพื่อเรียกรถพยาบาล ให้ไปถึงตำแหน่งที่หมายอย่างรวดเร็วและถูกต้อง
โดยทุกฟังก์ชั่นการทำงาน การให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน “Vajira @ Home” ไกลเหมือนใกล้ พร้อมให้บริการ จากโรงพยาบาลสู่บ้านคุณ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึงและปลอดภัย ให้การดูแลผู้ป่วยอย่างมีมาตรฐานและประสิทธิภาพแบบครบวงจร พร้อมประสานเครือข่ายสาธารณสุขทั่วกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง ครบประโยชน์ในแอปฯ เดียว
ผศ.นพ.จักราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้เริ่มโปรโมทแอปฯ ให้คนไข้ได้รับทราบแล้ว ในช่วงที่คนไข้นั่งรอรับยาหรือรอพบหมอจะแนะนำให้คนไข้ดาวโหลดแอปฯ ไว้บนมือถือ โดยในช่วงแรกตั้งเป้าจะมีคนไข้ดาวโหลดแอปฯ ไปใช้ประมาณ 10% ของคนไข้ที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาล 3,000 คน/วันในปีแรก
รศ.พญ.สว่างจิต สุรอมรกูล ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวว่า การดาวโหลดแอปพลิเคชั่น “Vajira @ Home” ไว้บนมือถือจะเป็นประโยชน์มากทั้งคนไข้และหมอ เพียงคนไข้ลงทะเบียนสมัครใช้งาน ยืนยันตัวตน จากนั้นทางโรงพยาบาลจะทำการตรวจสอบ เมื่อคนไข้ได้รับการอนุมัติแล้วจะสามารถเข้าใช้งานในฟังก์ชั่นต่าง ๆ ได้ คนไข้สามารถนำข้อมูลประวัติการรักษาแชร์ให้หมอท่านอื่น ๆ ได้ กรณีคนไข้ต้องไปพบหมอหลายโรงพยาบาล
รศ.ดร.นพ.เมษัณฑ์ ปรมาธิกุล ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวว่า นอกเหนือจากความโดดเด่นของแอปพลิเคชั่นแล้ว ทางโรงพยาบาลฯ ยังได้ร่วมกับ บริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำโครงการบริการฉีดยาโรคกระดูกพรุนให้ผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งนับเป็นโครงการแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้คนไข้โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกมารับการฉีดยาที่โรงพยาบาล สามารถได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์อนุแสง จิตสมเกษม รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลกล่าวว่า application นี้ เป็น application ทาง telemedicne แรกในประเทศไทย ที่นำเอา Blockchain ที่มักใช้กับ Fin Tech มาใช้กับ Health Tech ซึ่งจะทำให้ระบบมีความปลอดภัยในการปกป้องข้อมูลสูง ตามกฎหมาย PDPA ที่ประเทศไทยกำลังจะประกาศใช้ในปีหน้า
No comments:
Post a Comment