กรมชลประทานเดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำ จังหวัดสุราษฎร์ธานี - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Monday, July 5, 2021

กรมชลประทานเดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำ จังหวัดสุราษฎร์ธานี


กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยรวมทั้งบริหารจัดการน้ำทั้งจังหวัด โดยชู 3 โครงการสำคัญในพื้นที่ในอำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา พุนพิน และอำเภอเมือง เป็นโครงการนำร่อง เพื่อเพิ่มความสามารถบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมจัดสื่อสัญจรเยี่ยมชมพื้นที่ใกล้ชิด

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดี กรมชลประทาน

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดี กรมชลประทาน
เปิดเผยว่า ในปี 2564 กรมชลประทานได้เดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของ จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่พื้นที่ป่าต้นน้ำตอนบนถูกทำลาย การขาดแคลนแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ตอนบน เพื่อช่วยชะลอน้ำหลาก ประกอบกับประสิทธิภาพระบบระบายน้ำไม่เพียงพอทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะเกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากเป็นประจำทุกปี

พื้นที่ที่น้ำท่วมหนัก คือ อำเภอพุนพิน อำเภอเคียนซา อำเภอเมือง และอำเภอไชยา ซึ่งปัญหาอุทกภัย สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่การเกษตรรวมถึงชุมชนด้วย เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาอุทกภัยในระยะยาว กรมชลประทานจึงได้เร่งศึกษาการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และจะใช้เวลาดำเนินการศึกษาโครงการทั้งสิ้นเป็นระยะเวลา 8 เดือน
นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฏร์ธานี

จากความคืบหน้าของการศึกษาและดำเนินโครงการที่ผ่านมา ทางกรมฯ ได้จัดกิจกรรมปฐมนิเทศโครงการ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 กิจกรรมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2564 กิจกรรมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15-17 มิถุนายน 2564 ประชุมสรุปแผนหลัก เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 และในครั้งนี้ได้จัดกิจกรรมสื่อสัญจรในพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้น ระหว่างวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2564 เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในบริบทของพื้นที่ ทิศทางการดำเนินงาน และความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว เพื่อขยายช่องทางการสื่อสารสู่ภาคประชาชน และสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของสาธารณะชนอย่างจริงจัง

“กรมชลประทานได้ศึกษาการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ใน จังหวัดสุราษฎร์ธานีทั้งหมด 19 อําเภอ พบว่ามีโครงการทั้งสิ้น 143 โครงการ และได้นำมาศึกษาพร้อมจัดลำดับความสำคัญ โดยใช้เกณฑ์การพิจารณา 4 ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ-สังคม และด้านเศรษฐศาสตร์ จนสามารถสรุปโครงการที่มีความสําคัญและเหมาะสม 3 โครงการ เป็นโครงการนำร่อง ในพื้นที่ อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ อำเภอพุนพินและอำเภอเมือง ซึ่งเป็น 3 พื้นที่หัวใจสำคัญที่จะสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี” นายเฉลิมเกียรติกล่าว

สำหรับรูปแบบการดำเนินการศึกษาโครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีทั้ง 3 โครงการ มีดังนี้

1. โครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำพื้นที่อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

พื้นที่อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาหลายประการดังนี้

• ปัญหาทางด้านอุทกภัย ฝนตกหนัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าชนะ ทำให้เกิดน้ำหลากล้นตลิ่ง คลองท่าชนะ คลองหินโฉ่ และ คลองสาขา บ่าเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน และเมื่อเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุน ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำของคลองท่าชนะ คลองท่ากระจาย และ ห้วยหวักก่อนลงสู่ทะเล ทำให้มีน้ำท่วมบริเวณที่ลุ่มต่ำ ริมคลองท่าชนะ คลองท่ากระจาย ห้วยหวัก และ ชุมชนชายทะเล เป็นระยะเวลานาน

• ปัญหาการขาดแคลนน้ำ สำหรับการเกษตรและการอุปโภคบริโภค เนื่องจากยังไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เมื่อน้ำทะเลหนุนรุกล้ำเข้ามาในคลองท่าชนะ คลองท่ากระจาย และห้วยหวัก ส่งผลให้น้ำในลำคลอง และบ่อน้ำตื้น มีค่าความเค็มเกินกว่านำมามาใช้ทำการเกษตร และอุปโภคบริโภคได้

รูปแบบโครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำพื้นที่อำเภอท่าชนะ จึงประกอบด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำโดยการขุดลอกคลองท่าชนะ คลองท่ากระจาย(เดิม) และ ห้วยหวัก พร้อมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำในคลองทั้ง 3 แห่ง เพื่อปิดกั้นน้ำเค็ม พื้นที่โครงการอยู่ในเขตตำบลท่าชนะ ตำบลคลองพา และตำบลสมอทอง อำเภอท่าชนะ รวมพื้นที่ 15,050 ไร่

ประโยชน์โครงการเมื่อแล้วเสร็จ คือการบรรเทาอุทกภัยในเขต ตำบลท่าชนะ ตำบลคลองพา และ ตำบลสมอทอง อำเภอท่าชนะ พื้นที่ 15,050 ไร่ ป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำเข้าพื้นที่การเกษตรในเขต ตำบลท่าชนะ อำเภอท่า

ชนะ พื้นที่ 8,530 ไร่ รวมถึงสามารถเก็บกักน้ำจืดไว้ใช้เพื่อการเกษตร อุปโภค-บริโภคในฤดูแล้งและการผลิตน้ำประปาได้อีกด้วย

2. โครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำพื้นที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

อำเภอไชยาประสบปัญหาพื้นที่น้ำท่วมเป็นประจำ เนื่องมาจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งที่มีแม่น้ำไหลผ่านมาจากเทือกเขาภูเก็ตทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอ ทั้งนี้พื้นที่อำเภอไชยาในช่วงของฤดูฝนจะตกมากในบริเวณที่ที่เป็นเทือกเขาเป็นส่วนใหญ่ ทำให้น้ำป่าไหลหลากลงมาในแม่น้ำ แล้วไหลผ่านไปในพื้นที่อำเภอไชยา เพื่อไหลไปลงสู่ทะเลอ่าวไทย เมื่อเกิดฝนตกหนักในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลก่อให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอไชยา

จากปัญหาดังกล่าว กรมชลประทานได้ศึกษาความเหมาะสมโครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำพื้นที่อำเภอไชยา โดยสามารถสรุปลักษณะและองค์ประกอบ ได้ดังนี้

1) งานปรับปรุงฝายคลองไชยา (ฝายทดน้ำแบบพับได้) จำนวน 1 แห่ง

2) งานก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านป่าเว จำนวน 1 แห่ง

3) งานก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองท่าปูน จำนวน 1 แห่ง

4) งานก่อสร้างอาคารปากคลองผันน้ำฝั่งซ้าย จำนวน 1 แห่ง

5) งานก่อสร้างอาคารปากคลองผันน้ำฝั่งขวา จำนวน 1 แห่ง

6) งานก่อสร้างอาคารปากคลองผันน้ำแก้มลิงทุ่งท่าเนียน จำนวน 1 แห่ง

7) งานก่อสร้างอาคารผันน้ำแก้มลิงป่าเว จำนวน 1 แห่ง

8) งานปรับปรุงคลองผันน้ำฝั่งซ้าย (คลองส่งน้ำสายใหญ่ LMC) ยาว 2.91 กิโลเมตร

9) งานปรับปรุงคลองผันน้ำฝั่งขวา (คลองส่งน้ำสายใหญ่ RMC) ยาว 8.28 กิโลเมตร

10) งานคลองผันน้ำคลองตะเคียน ยาว 0.28 กิโลเมตร

11) งานปรับปรุงคลองตะเคียน ยาว 11.05 กิโลเมตร

12) งานปรับปรุงคลองไชยา 1 ยาว 20.98 กิโลเมตร

13) งานปรับปรุงคลองไชยา 2 ยาว 12.63 กิโลเมตร

14) งานปรับปรุงคลองท่าปูน ยาว 10.22 กิโลเมตร

15) งานคลองผันน้ำแก้มลิงทุ่งท่าเนียน ยาว 3.60 กิโลเมตร

16) งานปรับปรุงแก้มลิงทุ่งท่าเนียน จำนวน 1 แห่ง

17) งานปรับปรุงแก้มลิงป่าเว จำนวน 1 แห่ง

หากการดำเนินโครงการแล้วเสร็จ สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณ 28,315 ไร่คิดเป็นร้อยละ 86.87 เมื่อเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554

นอกจากนี้การขุดคลองผันน้ำต่างๆ จะช่วยระบายมวลน้ำหลากส่วนเกินออก เพื่อไม่ให้มวลน้ำหลากไหลเข้าไปท่วมในพื้นที่ อำเภอเมืองไชยา และผันน้ำบางส่วนไปกักเก็บในแก้มลิงทุ่งท่าเนียนและแก้มลิงป่าเว สามารถพัฒนาพื้นที่รับประโยชน์เพื่อการเกษตรบริเวณพื้นที่แก้มลิงเพิ่มขึ้นประมาณ 6,074 ไร่

3. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัย บริเวณพื้นที่อำเภอพุนพิน และอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ในพื้นที่อำเภอเมือง และ อำเภอพุนพิน เป็นจุดรวมของแม่น้ำสายสําคัญ 2 สาย คือแม่น้ำพุมดวงและแม่น้ำตาปี ตลอดจนพื้นที่ตอนล่างเป็นที่ราบชายฝั่งทะเล ได้รับอิทธิพลของการเกิดน้ำทะเลหนุน เป็นสาเหตุทําให้เกิดสภาวะน้ำท่วมซ้ำซากในบริเวณพื้นที่ชุมชนในตัวเมืองและอำเภอใกล้เคียงเป็นประจําทุกปี

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัย บริเวณพื้นที่อำเภอพุนพิน และอำเภอเมือง จึงเกิดขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำตาปีตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช และมีพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยที่เกี่ยวข้องจํานวน 11 ลุ่มน้ำย่อย ในรูปแบบการพัฒนาโครงการเป็นการก่อสร้างแก้มลิงในพื้นที่เพื่อหน่วงน้ำ พร้อมทั้งก่อสร้างคลองผันน้ำเลี่ยงเมือง โดยผันน้ำจากแม่น้ำตาปี-คลองท่าทอง เพื่อผันน้ำส่วนเกินไปเก็บกักไว้ในพื้นที่แก้มลิง เช่น แก้มลิงทุ่งปากขอ เพื่อเก็บน้ำไว้ในช่วงฤดูแล้ง ร่วมกับการผันน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูน้ำหลากออกไปทางคลองผันน้ำสายใหม่เลี่ยงเมืองสุราษฎร์ธานีออกสู่ทะเลต่อไป

ทั้งนี้การผันน้ำเลี่ยงเมืองมีผลกระทบหลายด้าน จึงได้กําหนดแนวทางการผันน้ำเลี่ยงเมืองเป็นการก่อสร้างแนวคลองผันน้ำสายใหม่ ใช้พื้นที่เป็นที่ลุ่มและลําน้ำเดิมเพื่อลดการขุดเปิดเนินเขาที่สูง ทำให้คลองผันน้ำเลี่ยงเมืองเป็นระบบคลองเปิดมี 2 รูปแบบ ได้แก่ คลองดินรูปสี่เหลี่ยมคางหมูมีถนนสองข้าง และรูปแบบคลองคอนกรีตรูปตัวยูซึ่งจะใช้กับบริเวณที่ตัดผ่านช่วงที่เป็นเนินเขา

สรุปลักษณะและองค์ประกอบของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัย บริเวณพื้นที่อําเภอพุนพิน และอําเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ดังนี้

1) ขุดคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองจากแก้มลิงทุ่งปากขอ-คลองท่าทอง ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร พร้อม อาคารประกอบ เช่น สะพานรถยนต์ สะพานรถไฟ และท่อระบายน้ำ เป็นต้น และงานปรับปรุงคลองท่าทอง

2) งานก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในคลองผันน้ำ เช่น ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ อาคารจ่ายน้ำข้างคลอง เข้าพื้นที่รับประโยชน์สองฝั่งคลองผันน้ำ เป็นต้น

3) งานขุดช่องลัดคลองท่าทอง ระยะทางประมาณ 1,735 เมตร

4) งานปรับปรุงลําน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในแม่น้ำตาปี และคลองพุนพิน

หากการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมในเขตอำเภอพุนพินและอำเภอเมือง ได้ประมาณ 200,000 ไร่ สามารถเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำได้กว่า 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ทําให้น้ำท่วมในพื้นที่ระบายออกได้เร็วขึ้น นอกจากนี้คลองผันน้ำเลี่ยงเมือง ยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้งได้ โดยใช้การบริหารจัดการประตูระบายน้ำที่ก่อสร้างในคลองผันน้ำเลี่ยงเมือง ทําให้สามารถพัฒนาพื้นที่รับประโยชน์ข้างคลองผันน้ำเพื่อการเกษตรได้กว่า 26,700 ไร่ รวมทั้งยังสามารถพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ในอนาคต

สำหรับการดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้ง 3 โครงการข้างต้น วางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มขีดความสามารถการบริหารจัดการน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ และเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตร และเพื่อการอุปโภค-บริโภค ในฤดูแล้ง อันจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีต่อไป

____________________________________________________________________

ข้อมูลเพิ่มเติม

จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่รวม 13,088.055 ตารางกิโลเมตร (8,180,034 ไร่) แบ่งเขตการปกครองประกอบไปด้วย 19 อำเภอ 131 ตำบล (2 เทศบาลนคร 3 เทศบาลเมือง 35 เทศบาลตำบล)

โดยพื้นที่ศึกษาการจัดทำแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี (Master Plan) ครอบคลุมลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน (ลุ่มน้ำลำดับที่ 19) มีพื้นที่ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี 13,049.028 ตารางกิโลเมตร (8,155,642 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 99.70 ของพื้นที่จังหวัด โดยมีลุ่มน้ำย่อยที่เกี่ยวข้อง 15 ลุ่มน้ำย่อย และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ลุ่มน้ำลำดับที่ 22) มีพื้นที่ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี 39.027 ตารางกิโลเมตร (24,392 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 0.30

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน

จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางในปัจจุบันจำนวน 7 โครงการ โดย

สามารถแบ่งประเภทโครงการออกเป็น โครงการอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง ฝาย/ประตูระบายน้ำ 4 แห่ง และอื่นๆ

จำนวน 2 แห่ง และโครงการชลประทานขนาดเล็ก 126 โครงการ สามารถเก็บกักน้ำได้ 184.29 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน 166,062 ไร่

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำจังหวัดสุราษฎร์ธานีในอนาคต

จากการรวบรวมแผนพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดสุราษฎร์ธานีจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น พบว่าจากพื้นที่ทั้ง 19 อำเภอในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีจำนวนทั้งสิ้น 143 โครงการ เมื่อดำเนินการครอบคลุมทุกแผนงานทั้งหมด 143 โครงการ จะสามารถเพิ่มความจุเก็บกักได้ 1,346.26 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 1,555,825 ไร่ ค่าก่อสร้างทั้งโครงการ 77,347.69 ล้านบาท

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages