ภายงานได้รับเกียรติจาก ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ นายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ และ อ.นพ. เจษฎา อุดมมงคล นายกสมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย ร่วมพูดคุยให้ความรู้ในประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ผลกระทบของโรคหลอดเลือดสมองต่ออัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองพร้อมแนวทางการรักษา
ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ นายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการสํารวจประชากรขององค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลกพบว่าในปี 2563 มีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน และยังพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นถึง 14.5 ล้านคนต่อปี โดย 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป และร้อยละ 60 จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สําหรับประเทศไทยโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของความพิการและเสียชีวิตอันดับ 1 ในผู้สูงอายุ จากรายงานข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของกองยุทธศาสตร์และแผนงานกระทรวงสาธารณสุข พบว่า จํานวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่ปี 2556 - 2560 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2560 พบผู้ป่วยเกิดใหม่จำนวน 304,807 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย โดยค่าใช้จ่ายที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หากเป็นการรักษาในระยะสั้น คือได้รับการรักษาทันที ก็จะเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก แต่หากเป็นการรักษาระยะยาวที่ต้องได้รับการดูแลตลอดชีวิต จะมีค่าใช้จ่ายราวปีละ 2-3 ล้านบาทต่อคน ซึ่งส่งผลโดยตรงให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งส่วนตัว ครอบครัว และประเทศชาติโดยรวม
สำหรับปัจจัยเสี่ยงสําคัญที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ อายุ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สภาวะสังคมสูงวัย ยิ่งส่งผลให้แนวโน้มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีจำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หัวใจสําคัญของการรักษาโรคหลอดเลือดสมองคือ “เวลา” ดังนั้นหากผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดสามารถจำหลักการง่ายๆ คือ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ “พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น”
• “พูดลำบาก” หมายถึง การพูดที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พูดไม่ออก หรือพูดไม่รู้เรื่อง
• “ปากตก” หมายถึง มุมปากข้างใดข้างหนึ่งตกลง ยิ้มยิงฟันแล้วปากเบี้ยว มุมปากสองข้างไม่เท่ากัน
• “ยกไม่ขึ้น” หมายถึง แขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ยกไม่ขึ้น
โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ดังนั้น หากผู้ปู่วยหรือคนรอบข้างสามารถสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ ให้โทรไปที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง ยิ่งแจ้งเร็วเท่าไร ก็จะช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการได้ ตามโครงการรณรงค์ “Stroke รู้ เร็ว รอด” ซึ่งหมายถึง รู้จักอาการและรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะมีโอกาสรอดพ้นจากความพิการและเสียชีวิต
สําหรับแนวทางป้องกันโรคหลอดเลือดสมองสามารถทําได้เอง ได้แก่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม หวานจัด อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ควบคุมมระดับความดันโลหิต ระดับไขมัน และระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดเหล้า บุหรี่ หมั่นตรวจสุขภาพประจําปี สําหรับผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตามคําแนะนําของแพทย์อย่างเคร่งครัด
และเพื่อเผยแพร่โครงการรณรงค์ “Stroke รู้ เร็ว รอด” ให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างยังได้ร่วมกับโรงพยาบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประกวดโครงการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือด ผ่านทางโซเซียล มีเดีย พร้อมติด hashtag #พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น โดยภายในงานเสวนาได้จัดให้มีการมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานจากมหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพยาบาลศรีสะเกษ และโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ นอกจากนี้ยังได้เปิดตัวมาสคอต“นายด่วนจี๋ หรือ Mr. Fast Man” เพื่อเป็นสื่อกลาง ในการสร้างความรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตราย รวมถึงรู้จักดูแลตัวเอง และเฝ้าระวังอาการโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างถูกต้องอีกด้วย ทั้งนี้สามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองได้ที่ เว็บไซต์ www.neurothai.org หรือ www.facebook.com/neurothai.thailand
No comments:
Post a Comment