วิสัยทัศน์ วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในก้าวต่อไป กับ Ecosystem ที่ผสานทุกภาคส่วนให้รวมเป็นหนึ่ง - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, July 16, 2025

วิสัยทัศน์ วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในก้าวต่อไป กับ Ecosystem ที่ผสานทุกภาคส่วนให้รวมเป็นหนึ่ง


วิสัยทัศน์ วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในก้าวต่อไป
กับ Ecosystem ที่ผสานทุกภาคส่วนให้รวมเป็นหนึ่ง

เนื่องในโอกาสครบรอบ 112 ปี ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะ ฯ และทีมบริหาร เผยวิสัยทัศน์และทิศทางที่สำคัญของการบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อมุ่งสู่การเป็นสถาบันการศึกษาที่ปลูกฝังค่านิยมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ทุกคนใน Ecosystem ที่ไม่จำกัดเพียงนิสิต แต่หมายถึงคณาจารย์ บุคลากร เจ้าหน้าที่ ศิษย์เก่าและพันธมิตรทั้งหมด


รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดี ฯ เผย ในยุคสมัยแห่งการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด การพัฒนาบุคคลไม่เพียงจำกัดอยู่แต่ในด้านวิชาการความรู้ แต่การปลูกฝังค่านิยมในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เท่าทันกับปัจจุบันที่มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในสังคมได้ตลอดเวลา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศที่ช่วยพัฒนาวิศวกรที่มีคุณภาพและมีคุณธรรม อยู่คู่สังคมไทยมานานกว่า 112 ปี มีความมุ่งหวังในการสร้างต้นกล้าที่สามารถเติบโตไปเป็นรากฐานอันมั่นคงของประเทศ อุทิศความสามารถที่มีเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของประเทศไทย และพร้อมที่จะพัฒนาตนเองอย่างไม่รู้จบ เพื่อเป็นผู้นำสังคมและพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน


“งานครบรอบ 112 ปี เป็นหมุดหมายสำคัญที่เราจะตอกย้ำสิ่งที่เรามุ่งเน้นมาตลอด คือการสร้าง Community ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ ที่ไม่จำกัดแค่เฉพาะช่วงชีวิตการเป็นนักเรียน นิสิต แต่เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) คณะฯมุ่งพัฒนา พัฒนาหลักสูตรที่ ตรงใจ ตรงไทย ตรงโลก ส่งเสริมชาววิศวะ ฯ จุฬา ฯ เป็นผู้รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา”


คณะฯ มองเป้าหมายการพัฒนาแบ่งออกเป็น 2 มุมมองหลักคือ ด้าน Inside out และ Outside In ในด้าน Outside In คือเรื่องการพัฒนานิสิตให้เติบโตรอบทิศ เพราะนิสิตคือหัวใจสำคัญ ทุกคนมีความสามารถที่พัฒนาความสามารถเฉพาะตน สถาบันการศึกษามีหน้าที่ในการมอบโอกาสและประสบการณ์นำทางสร้างปัญญาและทักษะ ให้นิสิตมองเห็นความท้าทายและมีแนวทางการพัฒนาไปสู่คำตอบนั้น มอบโอกาสและประสบการณ์ให้เขาได้เติบโต เป็นวิศวกรที่ทรงคุณค่าป้อนเข้าสู่สังคมประเทศไทยและสังคมโลก


คณะ ฯ เข้าใจความต้องการของนิสิต ที่มีความหลากหลาย เราสนับสนุนให้นิสิตสามารถเรียนสาขาย่อยต่างภาคได้ (Minor) นิสิตสามารถกำหนดเส้นทางการพัฒนาตนเองได้อย่างไม่มีขีดจำกัด สร้างความเชี่ยวชาญตามความสนใจเพื่อพัฒนาความสามารถเฉพาะตัวของตัวเองได้อย่างเหมาะสม


แต่การพัฒนา Outside In นั้น จำเป็นต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยด้วยจึงจะเกิดผล คณะ ฯ ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาแบบ Inside Out ควบคู่ไปพร้อมกัน ในที่นี้หมายถึงการพัฒนาบุคลากรผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนิสิตไปด้วย เช่น คณาจารย์ บุคลากรคณะ ฯ เจ้าหน้าที่ เราสนับสนุนการทำงาน และการพัฒนาการเรียนรู้ในทุกด้าน คณะ ฯ ได้มีการสนับสนุนเงินทุนวิจัยสำหรับคณาจารย์ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานวิจัยที่เป็นระดับ Pioneer ที่อาจเป็นนวัตกรรมใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคตได้


อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดผู้บริหารคณะ ฯ รุ่นใหม่เสมอ ผ่านโครงการ Co-learning Leadership ที่ช่วยผลักดันให้คณาจารย์ บุคลากรคณะ ฯ พัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในรุ่นต่อไปของคณะ ฯ ผ่านการอบรม และการสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ เพื่อสร้างนักวิจัย ผู้บริหาร รุ่นใหม่ ที่มีทัศนวิสัยกว้างไกล ทันยุคสมัย มีความสามารถในการบริหารได้


นอกจากนี้ คณะ ฯ ยังเปิดกว้างเรื่องการพัฒนา ไม่ให้จำกัดอยู่เพียงภายในสถาบันการศึกษา แต่ยังมีการสร้างพันธมิตรจากภายนอกทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมธุรกิจ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรการสอน Sandbox ให้นิสิตได้มีโอกาสในการฝึกงานกับบริษัทจริง ๆ ทุกปีตั้งแต่การศึกษาปีที่ 1 โมเดลนี้สามารถตอบโจทย์อย่างตรงจุด นิสิตทราบความต้องการและความคาดหวังจริงจากอุตสาหกรรมแต่แรก ทำให้มีทั้งเวลาและมีแรงบันดาลใจเรียนวิชาได้ตรงกับสิ่งที่ท้าทายและเป็นอนาคตของอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเลือกพัฒนา Soft Skills ทักษะการทำงานเหมาะเฉพาะตน นิสิตกำลังการศึกษา สามารถทำงาน Part Time ต่อเนื่องกับบริษัทได้ นิสิตในหลักสูตรเป็นฟันเฟืองที่สามารถทำงานได้ทันที มีทักษะที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมมือกับคณะพาณิชศาสตร์และการบัญชีสร้างหลักสูตร Chula LGO (Leader For Global Operation) incorporated with MIT LGO ซึ่งพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถทางวิศวกรรมและบริหารธุรกิจ ซึ่งนิสิตต้องเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรม 6 เดือนเพื่อแก้โจทย์ให้อุตสาหกรรม


จะเห็นได้ว่า เราให้ความสำคัญกับ “บุคคล (People)” อย่างจริงจัง เพราะเราเชื่อว่าการพัฒนาบุคคลคือหัวใจของการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ต่อไป สิ่งที่สถาบันการศึกษาอย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถทำได้คือการเป็นสะพานที่เชื่อมโยงระหว่างปัจจุบันและอนาคตให้นิสิต โดยเตรียมเครื่องมือและสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสะดวกให้นิสิตสามารถเดินไปสู่จุดหมายได้อย่างมั่นคง พร้อมเป็นกำลังสำคัญของสังคมในยุคสมัยต่อไป

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages