อิปซอสส์ เผยผลสำรวจ “5 อันดับความกังวลใจสูงสุด” ของชาวไทย (What worries Thailand H1 2025) ชี้ คนไทยไม่มั่นใจอนาคต กังวลรายได้หด-ตกงาน ชะลอซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ และ ของใช้ครัวเรือน - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Thursday, July 17, 2025

อิปซอสส์ เผยผลสำรวจ “5 อันดับความกังวลใจสูงสุด” ของชาวไทย (What worries Thailand H1 2025) ชี้ คนไทยไม่มั่นใจอนาคต กังวลรายได้หด-ตกงาน ชะลอซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ และ ของใช้ครัวเรือน


อิปซอสส์ เผยผลสำรวจ “5 อันดับความกังวลใจสูงสุด”
ของชาวไทย (What worries Thailand H1 2025)
ชี้ คนไทยไม่มั่นใจอนาคต กังวลรายได้หด-ตกงาน
ชะลอซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ และ ของใช้ครัวเรือน
แนวคิด เศรษฐกิจแบบ “Cakeism” ยังปรากฏชัด
คนไทยปฏิเสธการเก็บภาษีเพิ่ม
และเรียกร้องให้เพิ่มงบประมาณด้านบริการสาธารณะ

ณ ห้องประชุม 1 เอ็มไพร์ ทาวเวอร์ บริษัท อิปซอสส์ จำกัด (Ipsos Ltd.) ผู้นำระดับโลกด้านการวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค ได้จัดงานเปิดตัวรายงานชุด "What Worries Thailand H1 2025" เพื่อนำเสนอ 5 
อันดับความกังวลใจสูงสุดของคนไทยในครึ่งแรกของปี 2568 นำโดย นางสาวอุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ และ นางสาวพิมพ์ทัย สุวรรณศุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ ร่วมนำเสนอผลการศึกษา ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในด้านต่างๆ อาทิ ความมั่นใจด้านรายได้: ความกังวลต่อรายได้ส่วนบุคคลและการใช้จ่าย, ความมั่นคงด้านการงาน: ประเด็นการจ้างงานและการว่างงาน, การจับจ่ายสินค้า: ผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าชิ้นใหญ่และผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน และ ช่องทางสื่อหลักที่ใช้ในการรับข่าวสาร: พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของผู้บริโภค

นอกจากนี้ อิปซอสส์ยังได้ให้ คำแนะนำสำหรับแบรนด์ต่างๆ ในการปรับตัวและวางแผนกลยุทธ์ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากความกังวลของคนไทยที่ส่งผลต่อภาพรวมของตลาดและภาคธุรกิจในปัจจุบัน


นางสาวพิมพ์ทัยได้เปิดเผยถึง "สรุปผลการวิจัย ชุด What Worries Thailand H1 2025" ซึ่งเป็นการศึกษาประเด็นความกังวลของประชาชนคนไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 โดยผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมความกังวลทั้งในระดับโลกและระดับประเทศที่น่าสนใจ ในภาพรวมระดับโลก ภาวะเงินเฟ้อ ยังคงเป็นประเด็นความกังวลสูงสุดที่ประชาชนทั่วโลกให้ความสำคัญ ในขณะที่สำหรับประเทศไทย ปัญหาสังคม เป็นประเด็นที่คนไทยมีความกังวลเป็นอันดับต้นๆ มาโดยตลอด ซึ่งผลสำรวจในครึ่งแรกของปี 2568 นี้ (H1 2025) ได้จัดลำดับความกังวลของคนไทย ดังนี้:

• การเงินและการทุจริตทางการเมือง (Financial / Political corruption): 45%

• ความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางสังคม (Poverty & Social inequality): 37%

• การว่างงาน (Unemployment): 31%

• ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation): 24%

• อาชญากรรมและความรุนแรง (Crime & Violence): 22%


ในส่วนของภาคเศรษฐกิจ ผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงแนวคิดแบบ "Cakeism" ที่ยังคงปรากฏชัดในหมู่คนไทย โดย 45% ของคนไทยไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีเพิ่ม เพื่อนำไปใช้ในการสนับสนุนการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ ในทางตรงกันข้าม 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามกลับสนับสนุนให้มีการเพิ่มการใช้จ่ายในด้านบริการสาธารณะ


มุมมองด้านเศรษฐกิจของคนไทย: ความกังวลที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ความลังเลมากขึ้นในการซื้อของชิ้นใหญ่ เช่น บ้าน รถยนต์ หรือแม้แต่การซื้อของใช้ในบ้านทั่วไป


ผลสำรวจเผยให้เห็นว่า 65% ของคนไทยมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันย่ำแย่ลง ซึ่งเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกต่ำนี้ส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นในทุกกลุ่มรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

ความเชื่อมั่นที่ลดลงนี้ทำให้คนไทยมีความลังเลในการจับจ่ายสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าชิ้นใหญ่ เช่น บ้านหรือรถยนต์ ซึ่งมี 53% ของคนไทยที่รู้สึกไม่สบายใจที่จะซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ ประเภทบ้านหรือรถยนต์ โดยเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ไม่เพียงเท่านั้น ความกังวลยังขยายไปถึงการซื้อของใช้ในบ้านทั่วไป โดยพบว่า 46% ของคนไทยรู้สึกไม่สบายใจในการซื้อของใช้ในครัวเรือนอื่นๆ เพิ่มขึ้นถึง 10% จากปีที่แล้ว


การคาดการณ์ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น--ค่าสาธารณูปโภค ค่าเชื้อเพลิงรถยนต์ และ การจับจ่ายด้านอาหาร / ของใช้ในครัวเรือน


เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายภายในบ้านในอีก 6 เดือนข้างหน้า คาดว่าค่าใช้จ่ายนั้นจะเพิ่มขึ้น ลดลง หรือคงเดิมเท่ากับปัจจุบัน โดยพิจารณาค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทต่อไปนี้ 
69% ค่าสาธารณูปโภค (+10 pp) 
66% ค่าเชื้อเพลิงรถยนต์ (+7 pp) 
66% ใช้จ่ายด้านอาหาร (+5 pp) 
62% ค่าใช้จ่ายในการซื้อของใช้ในบ้านอื่นๆ (+1 pp) 
44% ค่าใช้จ่ายในการสังสรรค์ (+3 pp ) 
38% ค่าที่อยู่อาศัย (+2 pp) 
34% ค่าสมาชิกต่างๆ (+3 pp)

เกือบร้อยละ 30 ของคนไทยกังวลใจ หวั่นตกงาน ในอีก 6 เดือนข้างหน้า


ความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในการจ้างงานยังคงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับคนไทย โดยเกือบ 6 ใน 10 คน (59%) ระบุว่ารู้จักคนที่เพิ่งตกงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แม้จะลดลง 2% จากปีที่แล้วก็ตาม นอกจากนี้ เกือบหนึ่งในสามของคนไทย หรือ 28% แสดงความกังวลว่าตนเองอาจประสบปัญหาการตกงานในอีก 6 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงในงานกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 48% มีความมั่นใจน้อยลงเกี่ยวกับความมั่นคงในงานของตนเอง ครอบครัว และบุคคลใกล้ชิด ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 12% จากปีที่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น 54% ของคนไทยมีความมั่นใจน้อยลงเกี่ยวกับความสามารถในการลงทุนเพื่ออนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเกษียณอายุหรือเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนหน้า


นอกจากนี้ คนไทยยังระบุถึงสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าครองชีพที่สูงขึ้น เมือถามถึงปัจจัยที่มีส่วนทำให้ค่าครองชีพในประเทศไทยสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา


- 81% ระดับอัตราดอกเบี้ยในประเทศ (+4pp)

- 81% นโยบายของรัฐบาล (+4pp)

- 81% สภาวะเศรษฐกิจโลก (+5pp)

- 79% แรงงานเรียกร้องค่าตอบแทนที่สูงขึ้น (+4pp)

- 77% ธุรกิจต่างๆ มุ่งทำกำไรมากเกินไป (+3pp)

พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของคนไทย – เมื่อสอบถามถึงช่องทางหลักที่คนไทยเลือกใช้ในการติดตามข่าวสาร ผลสำรวจพบดังนี้:


1. โซเชียลมีเดีย (Social media): 86%

2. โทรทัศน์ (TV news): 57%

3. ข่าวจากเว็บไซต์ (News websites): 52%

4. เพื่อนและครอบครัว (Friends/family): 36%

5. พอดแคสต์ (Podcasts): 18%

6. หนังสือพิมพ์ (Newspapers): 17%

7. วิทยุ (Radio): 11%

8. อื่นๆ: 2%

9. ไม่ตอบ: 2%

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าโซเชียลมีเดียยังคงเป็นช่องทางหลักที่คนไทยส่วนใหญ่เลือกใช้ในการเสพข่าวสาร ทิ้งห่างช่องทางอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของแพลตฟอร์มดิจิทัลในชีวิตประจำวันของคนไทย

ความเท่าเทียมทางเพศมีผลต่อการสนับสนุนธุรกิจ และ คนไทยมีความตึงเครียดด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ในภาคธุรกิจ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า คนไทยให้การสนับสนุนธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ โดย 44% ของคนไทยยังเชื่อว่านโยบายที่ธุรกิจนำมาใช้เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศนั้นมีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมโดยรวม

สอดคล้องกับแนวคิดนี้ 71% ของคนไทยเชื่อว่าการบรรลุความเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะมีความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างความคิดเห็นของผู้ชาย (69%) และผู้หญิง (73%) ในประเด็นนี้ นอกจากนี้

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยยังคงเผชิญกับความตึงเครียดทางสังคมที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนรวยกับคนจน (84%) ระหว่างคนต่างช่วงวัย (76%) และ ระหว่างผู้ที่มีแนวคิดเสรีนิยมทางสังคมกับผู้ที่มีค่านิยมดั้งเดิม (73%)

คนไทยยังมีความหวัง คาดการณ์สถานะทางการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า

แม้จะมีความกังวลเหล่านี้ แต่ก็ยังคงมีความหวังปรากฏอยู่ โดย 37% ของคนไทยคาดการณ์ว่าสถานะทางการเงินส่วนบุคคลจะแข็งแกร่งขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้ลดลงถึง 17% จากปีที่แล้ว โดยแบ่งตามกลุ่มรายได้ได้ดังนี้: 

ครัวเรือนที่มีรายได้สูง: 41% (-9%), 
ครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลาง: 37% (-13%), 
ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย: 24% (-31%)


คนไทยเห็นว่า...ประเทศกำลังมาผิดทาง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 13% เรียกร้องหาผู้นำที่กล้าหาญพอที่จะ "แหกกฎ" เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ


นอกจากประเด็นความกังวลแล้ว การสำรวจยังได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับทิศทางของประเทศ โดย 56% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่าประเทศไทยกำลังมาผิดทาง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 13%

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังเผยให้เห็นถึงความรู้สึกเปราะบางในสังคมและประเทศ โดยพบว่า 66% ของคนไทยเชื่อว่าสังคมไทยกำลังตกอยู่ใน "ภาวะวิกฤต" และ 60% มองว่าประเทศกำลังอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งสะท้อนผ่าน ดัชนีชี้วัดสังคมวิกฤตของอิปซอสส์ (Ipsos Society is Broken Index) ด้วยสัดส่วนของประเทศไทยที่สูงถึง 77% ซึ่งนับเป็นอัตราสูงสุดจาก 31 ประเทศที่ทำการสำรวจ เปรียบเทียบกับอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ 61%


ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนที่เรียกร้องหาผู้นำที่มีความโดดเด่นและมีอำนาจในการจัดการแก้ไขปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยพบว่า 79% ของคนไทยเรียกร้องให้มีผู้นำที่กล้าหาญพอที่จะ "แหกกฎ" เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น 77% ยังสนับสนุนผู้นำที่เข้มแข็งเพื่อทวงคืนประเทศจากกลุ่มคนร่ำรวยและผู้มีอำนาจ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงและการแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาดจากผู้นำทางการเมือง


อิปซอสส์แนะแบรนด์ปรับตัว: กลยุทธ์รับมือความกังวลผู้บริโภคที่กระทบพฤติกรรมการใช้จ่าย


ท่ามกลางสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่กำลังเกิดขึ้น อิปซอสส์ได้ให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญแก่แบรนด์และธุรกิจ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากความกังวลของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยมุ่งเน้นใน 2 ประเด็นหลักดังนี้:

การคืนกำไรสู่สังคมและสร้างผลกระทบเชิงบวก: เมื่อผู้บริโภคเห็นว่าบริษัทสนับสนุน สาเหตุที่พวกเขาสนใจ จะสามารถสร้างความรู้สึกเชิงบวกและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับ แบรนด์ นำไปสู่ Loyalty (ความจงรักภักดีที่ลูกค้ามีให้ต่อแบรนด์) และการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้น

สร้างความเชื่อมั่นผ่านความโปร่งใส: การดำเนินธุรกิจด้วยธรรมาภิบาลที่ดีจะส่งเสริม ประสบการณ์เชิงบวกให้กับลูกค้า ด้วยการส่งเสริมความเป็นธรรม กระบวนการที่มี ประสิทธิภาพ และการสื่อสารที่ชัดเจน

นางสาวพิมพ์ทัย กล่าวปิดท้าย

About the Study รายงานชุดการศึกษานี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลจากผลสำรวจหลายฉบับของอิปซอสส์ ซึ่งประกอบด้วย: - What Worries the World June 2025: สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ 24,737 คน อายุ 16- 74 ปี ใน 30 ประเทศทั่วโลก รวมถึงกลุ่มตัวอย่างชาวไทย 500 คน อายุ 20-74 ปี เก็บข้อมูล ระหว่างวันที่ 25 เมษายน - 9 พฤษภาคม 2568 - Ipsos Populism Report 2025: สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ 23,228 คน อายุ 16-74 ปี ใน 31 ประเทศ ทั่วโลก รวมถึงกลุ่มตัวอย่างชาวไทย 500 คน อายุ 20-74 ปี เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ - 7 มีนาคม 2568 - International Women’s Day 2025: สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ 23,765 คน อายุ 16-74 ปี ใน 30 ประเทศทั่วโลก รวมถึงกลุ่มตัวอย่างชาวไทย 500 คน อายุ 20-74 ปี เก็บข้อมูลระหว่าง วันที่ 20 ธันวาคม 2567 - 3 มกราคม 2568 - Ipsos Cost of Living Monitor 2024: สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ 22,720 คน อายุต่ำกว่า 75 ปี ใน 32 ประเทศทั่วโลก รวมถึงกลุ่มตัวอย่างชาวไทย 500 คน อายุ 20-74 ปี เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม - 8 พฤศจิกายน 2567

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages