สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยไตรมาส 3 ปี 2564 และแนวโน้มช่วงที่เหลือของปี - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Thursday, October 7, 2021

สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยไตรมาส 3 ปี 2564 และแนวโน้มช่วงที่เหลือของปี


ในไตรมาส 3 ของปี 2564 ตลาดตราสารหนี้ไทยขยายตัวร้อยละ 5 แม้ว่าจะยังคงมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยมีมูลค่าคงค้างรวมเท่ากับ 14.9 ล้านล้านบาท การออกหุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้มีมูลค่ารวม 817,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 10 ปีปรับสูงขึ้น 11 bps. จากร้อยละ 1.78 ณ สิ้นไตรมาสก่อน เป็นร้อยละ 1.89 ณ สิ้นเดือนกันยายนและสูงขึ้น 61 bps. นับจากต้นปี ในทิศทางเดียวกันกับ Bond yield สหรัฐฯ จากการส่งสัญญาณชะลอนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (QE tapering) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับปริมาณพันธบัตรที่จะออกมากขึ้นจากการความต้องการระดมทุนของรัฐบาลไทย


นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงเติบโตต่อเนื่องแม้ว่าจะยังมีการระบาดของโควิด-19 โดยมูลค่าการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว มียอดการออกรวมเท่ากับ 817,556 ล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจที่เสนอขายสูงสุด 5 กลุ่มแรกในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ได้แก่ Energy ( 20.6%), PROP (15.1%), FIN (13.6%), Commerce (12.8%) และ FOOD (11.8%) ทั้งนี้ พบว่าผู้จัดจำหน่ายใช้ช่องทางติดต่อเสนอขายตราสารหนี้ผ่านออนไลน์และ Mobile application มากขึ้น ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนแม้จะมีมาตรการล็อคดาวน์

ด้านกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 ของปี 2564
นักลงทุนยังคงซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยกว่า 37,579 ล้านบาท แต่กลับมาขายสุทธิค่อนข้างมากในเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติยังมียอดการซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 915,918 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ของมูลค่าคงค้าง
ตราสารหนี้ไทย โดยกว่าร้อยละ 90 เป็นการถือครองในตราสารหนี้ระยะยาว และมีอายุเฉลี่ยของพันธบัตรที่ถือครองเท่ากับ 9.4 ปี

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ของไทยในช่วงไตรมาส 3 ปรับตัวในทิศทางขาขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมตามทิศทางเดียวกันกับพันธบัตรสหรัฐฯ จากทั้งปัจจัยภายนอก ได้แก่ แนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และ QE tapering และปัจจัยภายใน ได้แก่ ปริมาณพันธบัตรที่จะเพิ่มขึ้นมากจากความต้องการระดมทุนของรัฐบาลไทย ทำให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 18 bps. มาอยู่ที่ร้อยละ 0.56 และรุ่นอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้น 61 bps. มาอยู่ที่ร้อยละ 1.89

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 นี้ นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า แม้ Bond yield จะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางในตลาดโลก แต่ส่วนชดเชยความเสี่ยง (Credit spread) ของหุ้นกู้ที่ปรับลดลง ประกอบกับสภาพคล่องในระบบ ทำให้ต้นทุนของผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่ได้เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการออกหุ้นกู้ ดังนั้น การออกหุ้นกู้ระยะยาวของปีนี้จะไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ สำหรับทิศทาง Bond yield ระยะยาวในรุ่น 10 ปีของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้เชื่อว่าจะปรับขึ้นได้อีกไม่มากนัก เนื่องจากตลาดได้ปรับตัวล่วงหน้าสะท้อนปัจจัยหลักต่างๆ ไปแล้ว โดยอาจแกว่งตัวได้ตามตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะมีการทยอยประกาศออกมา 

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages