50 ปี ส.ส.ท. เผยกลยุทธ์ปี 2566 ผลักดันธุรกิจไทยให้แข็งแกร่ง สู้ตลาดโลกแนะติดอาวุธทางปัญญา เพิ่มทักษะให้บุคลากร นำพาองค์กรรอดพ้นจากทุกวิกฤตใหญ่ พร้อมขยายแพลตฟอร์มใหม่หลายบริการ เพื่อรองรับการ Reskill / Upskill ของบุคลากรภาคธุรกิจยุคใหม่ - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Monday, January 30, 2023

50 ปี ส.ส.ท. เผยกลยุทธ์ปี 2566 ผลักดันธุรกิจไทยให้แข็งแกร่ง สู้ตลาดโลกแนะติดอาวุธทางปัญญา เพิ่มทักษะให้บุคลากร นำพาองค์กรรอดพ้นจากทุกวิกฤตใหญ่ พร้อมขยายแพลตฟอร์มใหม่หลายบริการ เพื่อรองรับการ Reskill / Upskill ของบุคลากรภาคธุรกิจยุคใหม่


สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. ในฐานะองค์กรชั้นนำแถวหน้าของประเทศไทย ศูนย์รวมวิทยาการองค์ความรู้ต่าง ๆ จากประเทศญี่ปุ่น ในด้านการพัฒนาองค์กร ทรัพยากรมนุษย์ สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเข้มข้น เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้พร้อมสู่การแข่งขันบนเวทีสากล


ในวาระพิเศษครบรอบ 50 ปี การก่อตั้ง และก้าวย่างสู่ปีที่ 51 นี้ ส.ส.ท. ตอกย้ำการเป็นผู้นำความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเผยแพร่และถ่ายทอดให้กับบุคลากรไทย เพื่อช่วยสร้างฐานเศรษฐกิจพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศให้เข้มแข็งขึ้น พร้อมกันนี้ ยังร่วมผลักดันแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ด้วยการจัดงานเสวนาทางวิชาการภายใต้คอนเซ็ปต์ “INSPIRE OUR FUTURE” ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนยุคใหม่ เสริมศักยภาพ ในการร่วมสร้างอนาคตผ่านเทคโนโลยี และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ชั้น 2 โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ฯ

ผศ. ประยูร เชี่ยววัฒนา นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. กล่าวว่า “ทิศทางของ ส.ส.ท. ต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ยังคงยึดมั่น และดำเนินรอยตามอุดมการณ์ที่มีส่วนขับเคลื่อนภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวหน้า เติบโต มั่นคง และยั่งยืนเสมอมา โดยได้กำหนดแผนกลยุทธ์บริหาร 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการเสริมสร้างสมาคมฯ ให้แข็งแกร่งในทุกด้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในระยะยาว โดยปรับองค์กรให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้พนักงานพร้อมเรียนรู้ และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อรับมือกับการ Disrupt ทางเทคโนโลยี และสามารถตอบสนองกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ต่อมา ด้านการขยายเครือข่าย และสร้างพันธมิตร เพื่อสร้างและขยายกิจการของสมาคมฯ ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของนิเวศน์ธุรกิจ และปัญหาโครงสร้างประชากรของประเทศ เพื่อช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมไทยปรับตัวและพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายขององค์กร และตอบสนองนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐได้

ทั้งนี้ ยังมีในด้านการพัฒนา และยกระดับไปสู่การเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่น ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่หลายบริการ เพื่อรองรับการ Reskill / Upskill ของบุคลากร รวมไปถึงการเรียนภาษาออนไลน์ ได้แก่ HRD Digital Platform, TPA Eduway มีโครงการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (PT Provider), โครงการ Smart Monodzukuri ที่พัฒนาระบบการผลิตจาก Analog สู่ Digital ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และสุดท้ายด้านการสร้างการรับรู้ เสริมสร้างความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของสมาชิก และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมาคมฯ เพื่อขยายฐานสมาชิกของสมาคมฯ ให้กลุ่มเป้าหมายกว้างขึ้นทั้งในช่วงอายุของสมาชิกและกลุ่มผู้ประกอบการที่ครอบคลุมทุกภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม”

“ซึ่งการขยายบริการต่าง ๆ ของ ส.ส.ท. ที่คงแนวคิดการยกระดับมาตรฐานองค์ความรู้ทั้งหลักสูตรดั้งเดิมที่เป็นพื้นฐานในการทำงานแล้ว ยังเป็นองค์กรที่ร่วมผลักดันแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยพัฒนาระบบที่ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ เพื่อรองรับการเพิ่มทักษะของบุคลากรให้กับภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม นอกจากนั้น ยังนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ทันสมัย เช่น Smart Monodzukuri, Connected Industries Open Framework (CIOF), Renkei Control มาเผยแพร่เพื่อตอบสนองต่อแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการผลิต ซึ่งถือเป็นการรับมือกับภาวะโลกรวน (Climate Change) ของผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันที่ต้องการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

ผศ. ประยูร เชี่ยววัฒนา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ส่วนอีกหนึ่งบทบาทที่ไม่ละเลย นั่นคือ การเป็นองค์กรเพื่อสังคม (Social Enterprise) นอกจากการให้บริการแก่ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมแล้ว ส.ส.ท. ยังมีกิจกรรม CSR ที่จัดขึ้นประจำทุกปี ได้แก่ งานประกาศผลรางวัลคุณภาพ Thailand Quality Prize, Thailand Kaizen Award, Thailand 5S Award, Thailand Lean Award, และ KANO Quality Award เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานและเพิ่มศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม ต่อมาเป็นกิจกรรมที่เป็นเวทีแข่งขันทักษะด้านสร้างสรรค์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการประดิษฐ์หุ่นยนต์ของเยาวชน ได้แก่ การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ยุวชน และการแข่งขัน ส.ส.ท. PLC Competition ซึ่งทางสมาคมได้ดำเนินการจัดการแข่งขันมานานกว่า 30 ปี ทั้งนี้ ยังมีการเผยแพร่วิทยาการด้านต่าง ๆ ผ่านการฝึกอบรม โดยเชิญบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม เข้าร่วมฝึกอบรมกับภาคอุตสาหกรรมไทย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเพื่อคุณประโยชน์แก่สังคม ได้แก่ การจัดกิจกรรมวิ่งการกุศล การบริจาคทุนการศึกษา การบริจาคหนังสือแก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร การปลูกป่า ฯลฯ”

สำหรับ บรรยากาศภายในงานสัมมนาทางวิชาการ ในหัวข้อ “Lifelong Learning & Climate Change : อาวุธไม่ลับ แต่รับมือได้ทุกวิกฤติ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นั้น ได้รับเกียรติจาก 4 วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA), ดร. วิโรจน์ จิรพัฒนกุล ผู้บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio, ดร. การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม และรองผู้จัดการใหญ่ New Business บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ (SCGC) มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมี ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจ วานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ผู้ดำเนินงานเสวนานั้น ทางแขกผู้มีเกียรติในงานต่างได้รับแนวทางดี ๆ ในการนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์มากมาย

โดยมีบรรดาแขกผู้มีเกียรติตอบรับร่วมงานกันอย่างคับคั่งกว่า 300 ท่าน อาทิ ฯพณฯ นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย, Mr. SATO Masafumi, ศ.ดร. ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล อดีตนายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น), ผู้แทนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม, ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม, ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ผู้แทนจากหอการค้า ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศจุดยืนที่สำคัญของ ส.ส.ท. ในการตื่นตัวรับรู้กับสถานการณ์สำคัญที่กำลังใกล้มาถึง และให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดการใช้พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดตั้ง โครงการ Thailand-Japan Decarbonization Initiatives (TJDI) เพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศที่ช่วยผลักดัน และให้การส่งเสริมองค์ความรู้ พัฒนาบุคลากร และองค์กรต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้ง CO2 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon neutrality และ การปล่อยก๊าชเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ Net zero emissions

และการมอบรางวัล “TPA Top Performance Awards 2023” ให้แก่ 4 บริษัท ซึ่งผ่านเกณฑ์การตัดสิน ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีผลงานดีเด่นในด้านการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีคุณภาพ รวมถึงมีผู้บริหารที่ตระหนักถึงความสำคัญในการประยุกต์ใช้ระบบการบริหารงานทั่วทั้งองค์กรจนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ บริษัท เชียงใหม่ เบเวอเรช จำกัด ตัวแทนรับคุณประโภชน์ เกิดเจริญ, บริษัท ซีพีแรม จำกัด (ลาดหลุมแก้ว) ตัวแทนรับ คุณสาธิต แสงเรืองอ่อน, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ศูนย์กระจายสินค้า RDC ลำพูน ตัวแทนรับ นายนิเวศ พิชยานนท์ และบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) (ลำพูน) ตัวแทนรับ คุณวิชัย สุขประเสริฐกุล นั่นเอง

ตลอดระยะเวลา 50 ปี ส.ส.ท. ได้ดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง ในการส่งเสริมขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยทั้งประเทศ ด้วยการเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมความรู้ และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเผยแพร่ และถ่ายทอดให้แก่บุคลากรไทย ผ่านกิจกรรม และการดำเนินงานต่างๆ มากมายสู่ภาคอุตสาหกรรม จนทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั้งในวงการธุรกิจ และอุตสาหกรรม รวมทั้งหน่วยงานราชการต่าง ๆ และสำหรับก้าวต่อไป ส.ส.ท. ยืนยันที่จะยึดถือเจตนารมณ์เดิมในการเป็นผู้ส่งเสริมความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเผยแพร่และถ่ายทอดให้แก่บุคลากรไทย เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศสืบไป ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า “ส.ส.ท. มุ่งที่จะเป็นผู้นำในการสั่งสม สร้าง และเผยแพร่วิทยาการ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย”

ติดตามข่าวสารของทาง ส.ส.ท. ได้ที่ https://www.tpa.or.th/
#TPA #50thAnniversaryTPA #สสท 
#สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages