สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย ไตรมาส 1 ปี 2565 และ แนวโน้มตลาดในไตรมาสถัดไป - Siam Outlook

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Tuesday, April 5, 2022

สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย ไตรมาส 1 ปี 2565 และ แนวโน้มตลาดในไตรมาสถัดไป

 


 สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซีย-ยูเครน  ประกอบกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ทำให้มีแรงขายสุทธิตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างมากในเดือนมีนาคม  แต่มูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นไตรมาสแรกยังคงเป็นบวก โดยมียอดการซื้อสะสมสุทธิที่ 23,751 ล้านบาท  สำหรับการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวยังคงคึกคักโดยมียอดการออก 2.68 แสนล้านบาท สูงขึ้น 45% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 

การออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวในไตรมาสแรกของปี 2565 มีมูลค่า 268,746 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกว่า 90% เป็นหุ้นกู้ในกลุ่ม Investment grade (ตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป) ในขณะที่หุ้นกู้กลุ่ม High yield ถึง 83% เป็นหุ้นกู้แบบมีประกันโดยจัดให้มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นหลักประกัน หรือเป็นการค้ำประกันโดยนิติบุคคลอื่น 


การออก ESG bond หรือ ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน ในไตรมาสแรกของปี 2565 มีมูลค่า 42,000 ล้านบาทจากผู้ออกจำนวน 2 ราย ได้แก่ กระทรวงการคลังที่ออก Sustainability bond 2 รุ่น มูลค่ารวม 40,000 ล้านบาท และ บจ.โตโยต้า ลีสซิ่ง ออก Green bond เป็นรุ่นที่สองของบริษัท มูลค่า 2,000 ล้านบาท ทำให้มูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ ESG เพิ่มขึ้นเป็น 336,296 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1 เพิ่มขึ้น 12% จากสิ้นปีที่แล้ว


กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในช่วง 2 เดือนแรกของปี มีการซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่องโดยมียอดซื้อสุทธิสะสมจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 สูงกว่า 1.45 แสนล้านบาท  ก่อนที่จะพลิกกลับมาเป็นการขายออกตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ และตลอดเดือนมีนาคมหลังเกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน โดยกระแสการลงทุนสะสมสุทธิของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นไตรมาส 1 ยังคงเป็นบวก มียอดการซื้อสะสมสุทธิที่ 23,751 ล้านบาท ทำให้ต่างชาติมียอดการถือครองตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นไตรมาส 1 ที่ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.9% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทย โดยกว่า 90% เป็นการถือครองตราสารหนี้ระยะยาวที่มีอายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี 


อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond yield) ตั้งแต่ต้นปีมีการปรับตัวในทิศทางขาขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศยืนยันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีผลให้ Bond yield ไทยขยับขึ้นตาม Bond yield สหรัฐฯ โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2565  Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี อยู่ที่ 0.92% และ รุ่นอายุ 10 ปี ที่ 2.35% เป็นการปรับตัวสูงขึ้น 26 bps. และ 45 bps. ตามลำดับจากสิ้นปีที่แล้ว 


ส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit spread) ของหุ้นกู้อายุ 5 ปี ปรับตัวลดลงในไตรมาส 1 ทุกอันดับเครดิต แต่จากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้ผู้ออกมีต้นทุนการออกหุ้นกู้ (Corporate bond yield) สูงขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมา และเริ่มมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงกว่าก่อนโควิดเล็กน้อย โดยหุ้นกู้อายุ 5 ปี เรทติ้งกลุ่ม AAA, AA, A, BBB มีต้นทุนดอกเบี้ยโดยเฉลี่ย 2.13%, 2.48%, 2.78% และ 4.57% ตามลำดับ


ทั้งนี้ นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่ผ่านมามีผลกระทบโดยตรงต่อตลาดตราสารหนี้ไทยค่อนข้างจำกัด แต่มีผลกระทบทางอ้อมส่งผ่านไปทางอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น จนอาจกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในอนาคต และทำให้ธนาคารกลางต่างๆ ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จนมีผลให้ Bond yield มีแนวโน้มขยับขึ้นสูงและเร็วกว่าที่คาด


สำหรับทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย คาดว่าจะมีความผันผวนสูงโดย Bond yield ระยะกลางถึงยาวมีทิศทางเพิ่มขึ้นตาม Bond yield สหรัฐฯ ในขณะที่ Bond yield ระยะสั้นจะยังทรงตัวในระดับต่ำจนกว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งคาดว่าอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี ทั้งนี้ Bond yield 10 ปี ที่อ้างอิงจากแบบจำลอง Machine learning คาดว่ามีโอกาสปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับ 2.5 – 2.7% ณ สิ้นไตรมาส 2 โดยมีสมมติฐานว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนมีความคลี่คลายลงและไม่ลุกลามจนกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages